Main navigation
สมถะ
Share:

(๑)  สมถะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สมถะ มีในสมัยนั้น

(๒) สมถนิมิต เป็นไฉน

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ อันใด นี้เรียกว่า สมถนิมิต

(๓)  เจริญ วิปัสสนา มี สมถะ เป็นเบื้องต้นอย่างไร
- ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยเนกขัมมะ เป็นสมาธิ
- ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยความไม่พยาบาท เป็นสมาธิ
- ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอาโลกสัญญา เป็นสมาธิ
- ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก ด้วยเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า เป็นสมาธิ 
- วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดในสมาธินั้น โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา
- ด้วยประการดังนี้ สมถะจึงมีก่อน วิปัสสนามีภายหลัง

เจริญ สมถะ มี วิปัสสนา เป็นเบื้องต้นอย่างไร
- วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา
- วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นเวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชรา และมรณะ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ฯลฯ โดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ โดยความเป็นอนัตตา
- ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์
- เพราะความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ
- ด้วยประการดังนี้ วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง
เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา คู่กันไปอย่างไร
ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ด้วยอาการ ๑๖ คือ
- ด้วยความเป็นอารมณ์ ๑
- ด้วยความเป็นโคจร ๑
- ด้วยความละ ๑
- ด้วยความสละ ๑
- ด้วยความออก ๑
- ด้วยความหลีกไป ๑
- ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ๑
- ด้วยความเป็นธรรมประณีต ๑
- ด้วยความหลุดพ้น ๑
- ด้วยความไม่มีอาสวะ ๑
- ด้วยความเป็นเครื่องข้าม ๑
- ด้วยความไม่มีนิมิต ๑
- ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ๑
- ด้วยความว่างเปล่า ๑
- ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน  ๑
- ด้วยความไม่ล่วงเกินกันและกัน ๑
- ด้วยความเป็นคู่กัน ๑

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา คู่กันไปด้วยอารมณ์อย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นอารมณ์
- ละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นอารมณ์       
สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นอารมณ์

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา คู่กันไปด้วยความเป็นโคจรอย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นโคจร

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา คู่กันไปด้วยความละอย่างไร
- ละกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร
- ละกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชา และขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความละ

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคู่กันด้วยความสละอย่างไร
- สละกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร
- สละกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชา และขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความสละ

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคู่กันด้วยความออกอย่างไร
- ออกจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร
- ออกจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชา และจากขันธ์ วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความออก

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคู่กัน ด้วยความหลีกไปอย่างไร
- หลีกไปจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร
- หลีกไปจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและจากขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความหลีกไป

ภิกษุเจริญ สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคู่กัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียดอย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมละเอียดมีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียด

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคู่กัน ด้วยความเป็นธรรมประณีตอย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน  เป็นธรรมประณีต มีนิโรธเป็นโคจร
- เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมประณีต มีนิโรธเป็นโคจร สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นธรรมประณีต

เจริญ สมถะ และ วิปัสสนา เป็นคู่กัน ด้วยความหลุดพ้นอย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร ชื่อว่าเจโตวิมุติเพราะสำรอกราคะ ชื่อว่าปัญญาวิมุติเพราะสำรอกอวิชชา
สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความหลุดพ้น

เจริญ สมถะ และ วิปัสนา เป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีอาสวะอย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มีอาสวะด้วยกามาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชาวิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมไม่มีอาสวะด้วยอวิชชาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กันไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีอาสวะ

เจริญ สมถะ และ วิปัสนา เป็นคู่กัน ด้วยความเป็นเครื่องข้ามอย่างไร
- ข้ามจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร
- ข้ามจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชา และจากขันธ์ วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กันไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นเครื่องข้าม

เจริญ สมถะ และ วิปัสนา ด้วยความไม่มีนิมิต อย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มีนิมิตรด้วยนิมิตรทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชาวิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมไม่มีนิมิตรด้วยนิมิตทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กันไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีนิมิต

เจริญ สมถะ และ วิปัสนา เป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง อย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชา วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง

เจริญ สมถะ และ วิปัสนา เป็นคู่กัน ด้วยความว่างเปล่า อย่างไร
- ละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร
- ละอวิชชา วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร
สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กันไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความว่างเปล่า

(๔) สมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดธาตุหลายประการ

เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดดุจไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เมื่อเหตุมีอยู่ เธอก็จักบรรลุความเป็นผู้อาจ เป็นผู้สามารถในอิทธิวิธีนั้น ๆ

เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์และเสียงของมนุษย์ ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตธาตุของมนุษย์

เมื่อเหตุมีอยู่ เธอก็จักบรรลุความเป็นผู้อาจ เป็นผู้สามารถในทิพยโสตธาตุนั้น ๆ

เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วย คือ

จิตมีราคะ พึงรู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะ พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ พึงรู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ พึงรู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ พึงรู้ว่าจิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะ พึงรู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ พึงรู้ว่าจิตหดหู่
หรือจิตฟุ้งซ่าน พึงรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคต พึงรู้ว่าจิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคตพึงรู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า พึงรู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าพึงรู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิ พึงรู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิ พึงรู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น พึงรู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดังนี้

เมื่อเหตุมีอยู่ เธอจักบรรลุความเป็นผู้อาจ เป็นผู้สามารถในเจโตปริยญาณนั้น ๆ

เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

เมื่อเหตุมีอยู่ เธอจักบรรลุความเป็นผู้อาจ เป็นผู้สามารถในบุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ๆ

เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมดังนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตาย เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตาย เข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์

เมื่อเหตุมีอยู่ เธอจักบรรลุความเป็นผู้อาจเป็นผู้สามารถในจูตูปปาตญาณนั้น ๆ

เธอนั้นเพียงจักหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

เมื่อเหตุมีอยู่ เธอจักบรรลุความเป็นผู้อาจเป็นผู้สามารถในอาสวักขยญาณนั้น ๆ

 
 
 
อ้างอิง:  
(๑) ธรรมสังคณี พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๖๙ หน้า ๓๖
(๒) ธรรมสังคณีปกรณ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๘๖๘ หน้า ๒๙๘
(๓) ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๕๓๔-๕๔๑ หน้า ๒๔๕-๒๕๒
(๔) มหาวัจฉโคตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๖๐-๒๖๖ หน้า ๑๙๙-๒๐๒

คำต่อไป