Main navigation
สัมมาอาชีวะ
Share:

(๑)  สัมมาอาชีวะ  คือ การเลี้ยงชีพชอบ ละการเลี้ยงชีพที่ผิด สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ   

(๒)  ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ

- เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง
- การโกงด้วยของปลอม
- และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
- และการโกงด้วยการรับสินบน
- การหลอกลวงและตลบตะแลง
- เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก

ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทำ สั่งสม พอกพูนไพบูลย์ 

(๓)  ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน

คือ การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ นี้มิจฉาอาชีวะ ฯ

ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน

เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ

- สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
- สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑

ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ความงด ความเว้น เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สตินั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ

 

อ้างอิง:  
(๑) มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๙ หน้า ๒๓๑
(๒) ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๑๗๐ หน้า ๑๓๖
(๓) มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๗๕-๒๗๘ หน้า ๑๔๙

 

คำต่อไป