Main navigation
สัญญา
Share:

(๑) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัญญา ๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอจึงตรัสว่า สัญญา

ธรรมชาติที่จำ ๆ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัญญา

จำอะไร

จำสีเขียวบ้าง จำสีเหลืองบ้าง จำสีแดงบ้าง จำสีขาวบ้าง ธรรมชาติย่อมจำ ๆ ฉะนั้น จึงตรัสว่า สัญญา

เวทนา สัญญา และวิญญาณ ธรรม ๓ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้

เพราะเวทนารู้สิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้น สัญญาจำสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น

ฉะนั้น ธรรม ๓ ประการนี้ จึงปะปนกัน ไม่แยกจากกันไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้

(๒) สัญญามีในสมัยนั้นเป็นไฉน

การจำ กิริยาที่จำ ความจำอันเกิดแต่สัมผัสแห่งมโนวิญญาณธาตุที่สมกันในสมัยนั้น อันใด  นี้ชื่อว่า สัญญา มีในสมัยนั้น

(๓) สัญญา ๖ ประการนี้ คือ

๑. รูปสัญญา    [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดรูปเป็นอารมณ์]
๒. สัททสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดเสียงเป็นอารมณ์]
๓. คันธสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดกลิ่นเป็นอารมณ์]
๔. รสสัญญา    [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดรสเป็นอารมณ์]
๕. โผฏฐัพพสัญญา [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์]
๖. ธัมมสัญญา  [สัญญาที่เกิดขึ้นยึดธรรมเป็นอารมณ์]

(๔) เหตุเกิดแห่งสัญญาเป็นไฉน คือ

ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งสัญญา

ก็ความต่างแห่งสัญญาเป็นไฉน คือ

สัญญาในรูปเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในรสเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในธรรมารมณ์เป็นอย่างหนึ่ง

นี้เรียกว่าความต่างแห่งสัญญา

ก็วิบากแห่งสัญญาเป็นไฉน คือ

เราย่อมกล่าวสัญญาว่ามีคำพูดเป็นผล (เพราะว่า) บุคคลย่อมรู้สึกโดยประการใดๆ ก็ย่อมพูดโดยประการนั้นๆ ว่า เราเป็นผู้มีความรู้สึกอย่างนั้น นี้เรียกว่าวิบากแห่งสัญญา

ก็ความดับแห่งสัญญาเป็นไฉน คือ

ความดับแห่งสัญญาย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัญญา

ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างแห่งสัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัญญาอย่างนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส


(๕) ความเป็นอนิจจังแห่งสัญญา

สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต ไม่เที่ยง จักกล่าวถึงสัญญาที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในสัญญาที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในสัญญาที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสัญญาที่เป็นปัจจุบัน

สัญญาไม่เที่ยง แม้เหตุปัจจัยที่ให้สัญญาเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง สัญญาที่เกิดจากสิ่งไม่เที่ยง ที่ไหนจะเที่ยงเล่า

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น

เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


(๖) ความเป็นทุกข์แห่งสัญญา

สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต เป็นทุกข์ จักกล่าวถึงสัญญาที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในสัญญาที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในสัญญาที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสัญญาที่เป็นปัจจุบัน

สัญญาเป็นทุกข์ แม้เหตุปัจจัยที่ให้สัญญาเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ สัญญาที่เกิดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ไหนจะเป็นสุขเล่า

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น

เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


(๗) ความเป็นอนัตตาแห่งสัญญา

สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงสัญญาที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในสัญญาที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในสัญญาที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสัญญาที่เป็นปัจจุบัน

สัญญาเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้สัญญาเกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา สัญญาที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจะเป็นอัตตาเล่า

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น

เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


(๘) สัญญาเป็นสมุฏฐานของการดำริ

ความดำริเป็นอกุศล มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน

สัญญาเล่าก็มีมากหลายอย่าง มีประการต่าง ๆ สัญญาใดเป็นสัญญาในกาม เป็นสัญญาในพยาบาทเป็นสัญญาในการเบียดเบียน ความดำริเป็นอกุศลมีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน

ความดำริเป็นกุศล มีสัญญาเป็นสมุฏฐาน

สัญญาเล่าก็มีมากหลายอย่าง มีประการต่าง ๆ สัญญาใดเป็นสัญญาในเนกขัมมะ เป็นสัญญาในความไม่พยาบาท เป็นสัญญาในอันไม่เบียดเบียน ความดำริเป็นกุศลมีสัญญานี้เป็นสมุฏฐาน


(๙) สัญญาขันธ์เป็นไฉน

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สัญญาอดีต สัญญาอนาคต สัญญาปัจจุบัน สัญญาภายใน สัญญาภายนอก สัญญาหยาบ สัญญาละเอียด สัญญาทราม สัญญาประณีต สัญญาไกล สัญญาใกล้ ประมวลย่อเข้าเป็นกองเดียวกัน นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ในสัญญาขันธ์นั้น

สัญญาอดีต เป็นไฉน

สัญญาใดล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปราศไปแล้ว แปรไปแล้ว ถึงความดับแล้ว ถึงความสิ้นแล้ว ที่เกิดขึ้นแล้วปราศไปแล้ว ที่เป็นอดีตสงเคราะห์เข้ากับส่วนอดีต ได้แก่จักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา มโนสัมผัสสชาสัญญา นี้เรียกว่าสัญญาอดีต

สัญญาอนาคต เป็นไฉน

สัญญาใด ยังไม่เกิด ยังไม่เป็น ยังไม่เกิดพร้อม ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดยิ่ง ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่เป็นอนาคตสงเคราะห์เข้ากับส่วนอนาคต ได้แก่ จักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา  มโนสัมผัสสชาสัญญา นี้เรียกว่าสัญญาอนาคต

สัญญาปัจจุบัน เป็นไฉน

สัญญาใด เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดยิ่งแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ที่เป็นปัจจุบันสงเคราะห์เข้ากับส่วนปัจจุบัน ได้แก่ จักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา มโนสัมผัสสชาสัญญา นี้เรียกว่าสัญญาปัจจุบัน

สัญญาภายใน เป็นไฉน

สัญญาใดของสัตว์นั้น ๆ เอง ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่ จักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา มโนสัมผัสสชาสัญญา นี้เรียกว่าสัญญาภายใน

สัญญาภายนอก เป็นไฉน

สัญญาใด ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นนั้น ๆ ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่ จักขุสัมผัสสชาสัญญา โสตสัมผัสสชาสัญญา ฆานสัมผัสสชาสัญญา ชิวหาสัมผัสสชาสัญญา กายสัมผัสสชาสัญญา มโนสัมผัสสชาสัญญา นี้เรียกว่าสัญญาภายนอก

สัญญาหยาบ สัญญาละเอียด เป็นไฉน

สัญญาอันเกิดแต่ปฏิฆสัมผัส (คือสัญญาเกิดแต่ปัญจทวาร) เป็นสัญญาหยาบ
สัญญาอันเกิดแต่อธิวจนสัมผัส (คือสัญญาเกิดแต่มโนทวาร) เป็นสัญญาละเอียด

อกุศลสัญญาเป็นสัญญาหยาบ
กุศลสัญญาและอัพยากตสัญญาเป็นสัญญาละเอียด

กุศลสัญญาและอกุศลสัญญาเป็นสัญญาหยาบ
อัพยากตสัญญาเป็นสัญญาละเอียด

สัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นสัญญาหยาบ
สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นสัญญาละเอียด

สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นสัญญาหยาบ
สัญญาที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนาเป็นสัญญาละเอียด

สัญญาของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นสัญญาหยาบ
สัญญาของผู้เข้าสมาบัติเป็นสัญญาละเอียด

สัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นสัญญาหยาบ
สัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นสัญญาละเอียด

หรือพึงทราบสัญญาหยาบสัญญาละเอียดโดยอาศัยเทียบเคียงสัญญานั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป

สัญญาทราม สัญญาประณีต เป็นไฉน

อกุศลสัญญาเป็นสัญญาทราม
กุศลสัญญาและอัพยากตสัญญาเป็นสัญญาประณีต

กุศลสัญญาและอกุศลสัญญาเป็นสัญญาทราม
อัพยากตสัญญาเป็นสัญญาประณีต

สัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นสัญญาทราม
สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นสัญญาประณีต

สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นสัญญาทราม
สัญญาที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนาเป็นสัญญาประณีต

สัญญาของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นสัญญาทราม
สัญญาของผู้เข้าสมาบัติเป็นสัญญาประณีต

สัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นสัญญาทราม
สัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นสัญญาประณีต

หรือพึงทราบสัญญาทรามสัญญาประณีต โดยอาศัยเทียบเคียงสัญญานั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป

สัญญาไกล เป็นไฉน

อกุศลสัญญา
เป็นสัญญาไกลจากกุศลสัญญาและอัพยากตสัญญา
กุศลสัญญาและอัพยากตสัญญา
เป็นสัญญาไกลจากอกุศลสัญญา

กุศลสัญญา
เป็นสัญญาไกลจากอกุศลสัญญาและอัพยากตสัญญา
อกุศลสัญญาและอัพยากตสัญญา
เป็นสัญญาไกลจากกุศลสัญญา

อัพยากตสัญญา
เป็นสัญญาไกลจากกุศลสัญญาและอกุศลสัญญา
กุศลสัญญาและอกุศลสัญญา
เป็นสัญญาไกลจากอัพยากตสัญญา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนา
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา

สัญญาของผู้ไม่เข้าสมาบัติ
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาของผู้เข้าสมาบัติ

สัญญาของผู้เข้าสมาบัติ
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาของผู้ไม่เข้าสมาบัติ

สัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

สัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เป็นสัญญาไกลจากสัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

นี้เรียกว่าสัญญาไกล

สัญญาใกล้ เป็นไฉน

อกุศลสัญญาเป็นสัญญาใกล้กับอกุศลสัญญา
กุศลสัญญาเป็นสัญญาใกล้กับกุศลสัญญา
อัพยากตสัญญาเป็นสัญญาใกล้กับอัพยากตสัญญา

สัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา
สัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา
สัญญาที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา

สัญญาของผู้ไม่เข้าสมาบัติ
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาของผู้ไม่เข้าสมาบัติ
สัญญาของผู้เข้าสมาบัติ
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาของผู้เข้าสมาบัติ

สัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
สัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เป็นสัญญาใกล้กับสัญญาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

นี้ เรียกว่าสัญญาใกล้ หรือพึงทราบสัญญาไกลสัญญาใกล้ โดยอาศัยเทียบเคียงสัญญานั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป


(๑๐) ลักษณะแห่งความเกิดขึ้น แปรไป ของสัญญา

สัญญาที่เกิดแล้ว เป็นปัจจุบัน ลักษณะความบังเกิดแห่งสัญญานั้น ชื่อว่าความเกิดขึ้น ลักษณะความแปรผันไป (แห่งสัญญานั้น) ชื่อว่าความเสื่อม ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ ชื่อว่าอนุปัสสนาญาณ

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งสัญญาขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งสัญญาขันธ์ โดยความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาเกิด สัญญาจึงเกิด
๒. เพราะตัณหาเกิด สัญญาจึงเกิด
๓. เพราะกรรมเกิด สัญญาจึงเกิด
๔. เพราะผัสสะเกิด สัญญาจึงเกิด
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความบังเกิด ก็ย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งสัญญาขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งสัญญาขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อม (แห่งสัญญาขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งสัญญาขันธ์ โดยความดับแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาดับ สัญญาจึงดับ
๒. เพราะตัณหาดับ สัญญาจึงดับ
๓. เพราะกรรมดับ สัญญาจึงดับ
๔. เพราะผัสสะดับ สัญญาจึงดับ
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความแปรผัน ก็ย่อมเห็นความเสื่อมแห่งสัญญาขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อมแห่งสัญญาขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม (แห่งสัญญาขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้


(๑๑) สัญญา ๗

สัญญา ๗ ประการนี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

๗ ประการ คือ

อสุภสัญญา
มรณสัญญา
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
อนิจจสัญญา
อนิจเจทุกขสัญญา
ทุกเขอนัตตสัญญา

สัญญา ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด


(๑๒) สัญญา ๑๐

บุคคลผู้เจ็บป่วย ความเจ็บป่วยพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟัง สัญญา ๑๐ ประการ นั้น เป็นฐานะที่เป็นไปได้

สัญญา ๑๐ ประการ คือ 

๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. อสุภสัญญา
๔. อาทีนวสัญญา (ความเป็นโทษในกาย)
๕. ปหานสัญญา
๖. วิราคสัญญา (ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส)
๗. นิโรธสัญญา (ธรรมเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือ)
๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา (การละอุบาย อุปาทานในโลก)
๙. สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา (ความอึดอัด เกลียดชังสังขารทั้งปวง)
๑๐. อานาปานัสสติ
 

การได้สมาธิด้วยสัญญา

(๑๓) การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่สำคัญสิ่งใด ๆ เป็นอารมณ์ เป็นแต่ผู้มีสัญญา พึงมีได้

โดยภิกษุพึงเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน

พึงมีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่สำคัญสิ่งใด ๆ เป็นอารมณ์


เหตุปัจจัยให้ปรินิพพาน

(๑๔) สัญญาเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบัน

สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมทราบชัดตามความ เป็นจริงว่า

นี้หานิภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายเสื่อม)
นี้ฐิติภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายดำรงอยู่)
นี้วิเสสภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายวิเศษ)
นี้นิพเพธภาคิยสัญญา (สัญญาฝ่ายชำแรกกิเลส)


เหตุเกิดและเหตุดับสัญญา

(๑๕) สมณพราหมณ์พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาของบุรุษ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเองดับไปเอง ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกนั้นผิดแต่ต้นทีเดียว

เพราะเหตุไร เพราะสัญญาของบุรุษมีเหตุ มีปัจจัย เกิดขึ้นก็มี ดับไปก็มี สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษาก็มี สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาก็มี

สัญญาเกี่ยวด้วยกามและสัจจสัญญาละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก

เมื่อภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ สัญญาเกี่ยวด้วยกามที่มีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ย่อมมีในสมัยนั้น

เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เพราะการศึกษาสัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาด้วยประการอย่างนี้

สัจจสัญญาละเอียดประกอบด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ

ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกมีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ

ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษาสัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาด้วยประการอย่างนี้

สัจจสัญญาละเอียดประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขา

ภิกษุบรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิในก่อนของเธอย่อมดับไป สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขาย่อมมีในสมัยนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขา

ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาด้วยประการอย่างนี้

สัจจสัญญาละเอียดประกอบด้วยอทุกขมสุขสัญญา

ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขามีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอทุกขมสุขย่อมมีในสมัยนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอทุกขมสุข

รูปสัญญาและสัจจสัญญาละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌาน

ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้

ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่าอากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจซึ่งสัญญาต่าง ๆโดยประการทั้งปวงอยู่

รูปสัญญามีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌาน

ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาด้วยประการอย่างนี้

สัจจสัญญาละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน

ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ได้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุดดังนี้อยู่

สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานมีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน

ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาด้วยประการอย่างนี้

สัจจสัญญาละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน

ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ได้บรรลุอากิญจัญญายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า ไม่มีอะไร

สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานที่มีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน

ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษาด้วยประการอย่างนี้

อภิสัญญานิโรธ

เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้มีสกสัญญา พ้นจากปฐมฌานเป็นต้นนั้นแล้ว ย่อมบรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยลำดับ เธอย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า

เมื่อเรายังคิดอยู่ ก็ยังชั่ว เมื่อเราไม่คิดอยู่ จึงจะดี ถ้าเรายังขืนคิด ขืนคำนึง สัญญาของเราเหล่านี้พึงดับไป และสัญญาที่หยาบเหล่าอื่นพึงเกิดขึ้น ถ้ากระไร เราไม่พึงคิด ไม่พึงคำนึง

ครั้นเธอปริวิตกอย่างนี้แล้ว เธอก็ไม่คิด ไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิด ไม่คำนึง สัญญาเหล่านั้นก็ดับไป และสัญญาที่หยาบเหล่าอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอก็ได้บรรลุนิโรธ การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล

พระโยคีย่อมบรรลุนิโรธด้วยประการใดๆ เราก็บัญญัติอากิญจัญญายตนฌานด้วยประการนั้น ๆ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอย่างเดียวบ้าง หลายอย่างบ้าง

สัญญาและญาณ

สัญญาแลเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้น

เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า ญาณเกิดขึ้นแก่เราเพราะสัญญานี้เป็นปัจจัย เธอพึงทราบความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า

สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้น

สัญญาและอัตตา

สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง

อัตตาหยาบ

อัตตาหยาบ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหาร เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง

สัญญาของบุรุษนี้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง

อัตตาสำเร็จด้วยใจ

อัตตาสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ ไม่บกพร่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจักมีสัญญาอย่างหนึ่ง มีอัตตาอย่างหนึ่ง

สัญญาของบุรุษนี้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง

อัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา

อัตตาไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง

สัญญาของบุรุษนี้ เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง

(๑๖) สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีสัญญา

สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่ายั่งยืนเมื่อตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญา

สัญญา (สัญญีทิฏฐิ) อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ เป็นเหมือนโรค เป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศร และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่

ความไม่มีสัญญา (อสัญญีทิฏฐิ) เป็นความหลง และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่

ความมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ (เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดบัญญัติการเข้าอายตนะนี้ด้วยเหตุเพียงสังขารที่ตนรู้แจ้ง โดยได้เห็นได้ยินและได้ทราบ

การบัญญัติของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นความพินาศของการเข้าอายตนะนี้

เพราะอายตนะนี้ ท่านไม่กล่าวว่าพึงบรรลุด้วยความถึงพร้อมของสังขาร แต่กล่าวว่าพึงบรรลุด้วยความถึงพร้อมของขันธ์ที่เหลือจากสังขาร

เรื่องเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่


สัญญาและภพ

(๑๗) สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกมนุษย์ และพวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก

สัตว์มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพผู้นับเนื่องในชั้นพรหมผู้บังเกิดด้วยปฐมฌาน และสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔

สัตว์มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่พวกเทพชั้นอาภัสสร

สัตว์ที่มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่พวกเทพชั้นสุภกิณหะ

(๑๘) สัญญามีอยู่ในหมู่มนุษย์ และโลกของมนุษย์นั้นก็เป็นภพที่มีสัญญา เป็นคติที่มีสัญญา เป็นสัตตาวาสที่มีสัญญา เป็นสงสารที่มีสัญญา เป็นกำเนิดที่มีสัญญา เป็นการได้อัตภาพที่มีสัญญา

มนุษย์ทำกิจที่ควรทำด้วยสัญญาได้ ด้วยสัญญานั้น

สัญญามีอยู่ในหมู่อสัญญสัตว์ และภพแห่งอสัญญสัตว์นั้นก็เป็นภพที่ไม่มีสัญญา เป็นคติที่ไม่มีสัญญา เป็นสัตตาวาสที่ไม่มีสัญญา เป็นสงสารที่ไม่มีสัญญา เป็นกำเนิดที่ไม่มีสัญญา เป็นการได้อัตภาพที่ไม่มีสัญญา

สัญญามีอยู่ในอสัญญสัตว์ทั้งหลายในกาลบางคราว ไม่มีในกาลบางคราว มีอยู่ในกาลจุติ ในกาลอุปบัติ (ปฏิสนธิกาล) ไม่มีในกาลตั้งอยู่ (ฐิติกาล/ปวัตติกาล)

อสัญญสัตว์ จุติ (เคลื่อน) จากชั้นนั้น เพราะเกิดสัญญาขึ้น

(๑๙) ในหมู่อสัญญสัตว์ ท่านไม่ยอมรับว่า “สัญญามีอยู่” และภพแห่งอสัญญสัตว์นั้น เป็นภพที่ไม่มีสัญญา เป็นคติที่ไม่มีสัญญา เป็นสัตตาวาสที่ไม่มีสัญญา เป็นสงสารที่ไม่มีสัญญา เป็นกำเนิดที่ไม่มีสัญญา เป็นการได้อัตภาพที่ไม่มีสัญญา

 

 

อ้างอิง:
(๑) มหาเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๙๕ หน้า ๓๘๐-๓๘๑
(๒) ธรรมสังคณี พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๑๙ หน้า ๒๙
(๓) หมวดสัญญา ๖ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๓๐๙ หน้า ๒๐๘-๒๐๙
(๔) นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓๔ หน้า ๓๖๗
(๕) อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๓๖ หน้า ๑๘
      อนิจจเหตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๕ หน้า ๒๒
(๖) อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๓๗ หน้า ๑๘
      ทุกขเหตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๖ หน้า ๒๓
(๗) อตีตานาคตปัจจุปันนสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๓๘ หน้า ๑๙
      อนัตตเหตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๗ หน้า ๒๓
(๘)  สมณมุณฑิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๖๔-๓๖๕ หน้า ๒๖๗-๒๖๘
(๘) ขันธวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๔-๑๙ หน้า ๖-๘
(๑๐) อุทยัพพยญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๔๙
(๑๑) สัญญาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๔๖ หน้า ๔๕
(๑๒) อาพาธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๐ หน้า ๙๙
(๑๓) สัญญาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๑๔ หน้า ๒๙๔-๒๙๗
(๑๔) นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๗๙ หน้า ๑๖๑-๑๖๒
(๑๕) โปฏฐปาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๒๗๙-๒๙๑ หน้า ๑๕๔, ๒๖๕-๒๖๙
(๑๖) ปัญจัตตยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๘-๓๐ หน้า ๒๐-๓๐
(๑๗) มหานิทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๖๕ หน้า ๖๕
(๑๘) อสัญญกถา พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๓๘๒-๓๘๓
(๑๘) เนวสัญญานาสัญญายตนกถา พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๓๘๕
 
 

คำต่อไป