Main navigation
สัมมาวาจา
Share:

(๑)  สัมมาวาจา  คือ การเจรจาชอบ  ประกอบด้วย

๑. การงดเว้นจากการพูดเท็จ

๒. การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๓. การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๔. การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

(๒)  เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป ความประพฤติทางวาจาเช่นนี้ ไม่ควรเสพ

และเมื่อเสพความประพฤติทางวาจาเช่นใด อกุศลธรรมย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง ความประพฤติทางวาจาเช่นนี้ ควรเสพ

การพูดเท็จ คือ

เมื่อไม่รู้ บอกว่ารู้บ้าง รู้อยู่ บอกว่าไม่รู้บ้าง ไม่เห็น บอกว่าเห็นบ้างเห็นอยู่ บอกว่าไม่เห็นบ้าง พูดเท็จทั้งๆ รู้ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุคนอื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง 

การพูดส่อเสียด คือ

เมื่อได้ยินจากฝ่ายนี้แล้วบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น

เมื่อเขาพร้อมเพรียงกัน ก็ยุให้แตกกันเสีย หรือเมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็ช่วยส่งเสริม

ชอบเป็นพรรคเป็นพวก ยินดีความเป็นพรรคเป็นพวก ชื่นชมความเป็นพรรคเป็นพวก เป็นผู้กล่าวคำทำให้เป็นพรรคเป็นพวก

การพูดคำหยาบ คือ

การกล่าววาจาที่มีโทษ หยาบคาย เผ็ดร้อน ขัดใจผู้อื่น ใกล้เคียงความโกรธ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อสมาธิ

การเจรจาเพ้อเจ้อ คือ

การกล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่เป็นประโยชน์ กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม กล่าวไม่เป็นวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีขอบเขต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร

เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาอย่างนี้ อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง กุศลธรรมจึงเสื่อมไป

การละเว้นจากการพูดเท็จ คือ

เมื่อไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ รู้อยู่ ก็บอกว่ารู้ ไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น เห็นอยู่ ก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้พูดเท็จทั้งๆ รู้ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุคนอื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

การละวาจาส่อเสียด คือ

เมื่อได้ยินจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่บอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น

เมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็สมานให้ดีกัน หรือเมื่อเขาดีกันอยู่ ก็ช่วยส่งเสริม

ชอบความพร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในคนที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้กล่าววาจาสมานสามัคคี

การละวาจาหยาบ คือ

เป็นผู้กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนาและชอบใจ

การละการเจรจาเพ้อเจ้อ คือ

การกล่าวถูกกาละ กล่าวตามเป็นจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย เป็นผู้กล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ ตามกาล

เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาอย่างนี้ อกุศลธรรมจึงเสื่อมไป กุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง

(๓)  ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่น พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
            
ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน ยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่น ว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูกถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ

(๔) เรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ

- สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง

- สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง

สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ คือ

เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ นี้ สัมมาวาจา ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค คือ

ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

บุคคลย่อมพยายามละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจา ความพยายามนั้น เป็นสัมมาวายามะ

บุคคลมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สตินั้นเป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของบุคคลนั้น ฯ

(๕)  ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด
-  ควรเป็นคนมีปัญญา
-  ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ
-  ไม่โอ้อวด
-  มีใจไม่ฟุ้งซ่าน
-  ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น
-  ไม่เพ่งโทษ

กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากันเพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี เขาจึงพาทีได้

-  บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต
-  ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว
-  ไม่ควรศึกษาความแข่งดี
-  และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด
-  ไม่ควรทับถม
-  ไม่ควรข่มขี่
-  ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ

(๖) วาจาใด เป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย

วาจาใด ไร้โทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ เป็นวาจาของชาวเมืองเป็นที่ยินดีเจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น

 

อ้างอิง :  
(๑) มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๙ หน้า ๒๓๑
(๒) เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  ข้อที่ ๒๐๓-๒๐๕ หน้า ๑๑๖-๑๑๗
(๓) สามัญผลสูตร มัชฌิมศีล พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๑๐-๑๑๑ หน้า ๖๓-๖๔
(๔) มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔  ข้อที่ ๒๖๖-๒๖๘ หน้า ๑๔๗-๑๔๘
(๕) กถาวัตถุสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่​ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๗ หน้า ๑๘๘-๑๙๐
(๖) สุตตันติกทุกะ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๘๖๑ หน้า ๒๙๖
 

 

คำต่อไป