Main navigation
สัมมาทิฏฐิ
Share:

(๑)  สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ  

๑. ความรู้ในทุกข์

๒. ความรู้ในเหตุให้ทุกข์เกิด

๓. ความรู้ในความดับทุกข์

๔. ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

(๒) เมื่อบุคคลมีสัมมาทิฏฐิ ย่อมละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย ว่าเรามีอยู่ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์

บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม ด้วยเหตุดังนี้

1. รู้ชัดซึ่งอกุศลและรากเหง้าอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเหง้าของกุศล

2. รู้ชัดซึ่งอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร

3. รู้ชัดซึ่งทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

4. รู้ชัดซึ่งเหตุ และปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท

(๓)  สัมมาทิฐิ อันองค์ ๕ อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเป็นธรรมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และเป็นธรรมมีปัญญาวิมุติ เป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ องค์ ๕ คือ

-  สัมมาทิฐิอันศีลอนุเคราะห์แล้ว 
-  อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว 
-  อันการสนทนาธรรมอนุเคราะห์แล้ว 
-  อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว 
-  อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว

(๔) ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ มีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ

บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ

ความเห็นดังนี้ว่าทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติ
ชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี

นี้มิจฉาทิฏฐิ ฯ

ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน

เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ

- สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
- สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑

สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

ความเห็นดังนี้ว่า

- ทานที่ให้แล้ว มีผล
- ยัญที่บูชาแล้ว มีผล
- สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล
- ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี
- มารดามี บิดามี
- สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี
- สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก มีอยู่

นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติ ละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ

บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ 

ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา

ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่ามิจฉากัมมันตะ รู้จักสัมมากัมมันตะว่า สัมมากัมมันตะ

ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่ามิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

- เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้
- เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้

บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฐิได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฐิสลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฐิเป็นปัจจัย ฯ

 
อ้างอิง:
(๑)  มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๙ หน้า ๒๓๑
(๒)  สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๒ ข้อที่ ๑๑๐-๑๓๐ หน้า ๖๓-๗๒
(๓) อนุคคหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๒ ข้อที่ ๒๕ หน้า ๒๐
(๔)  มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๕๒-๒๘๐ หน้า ๑๔๕-๑๕๐

คำต่อไป