Main navigation
สัทธรรม
Share:

(๑)  สัทธรรม ๗ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเจริญ คือ
                          ๑. เป็นคนมีศรัทธา
                          ๒. เป็นคนมีหิริ
                          ๓. เป็นคนมีโอตตัปปะ
                          ๔. เป็นคนมีพหูสูต
                          ๕. เป็นคนปรารภความเพียร
                          ๖. เป็นคนมีสติมั่นคง
                          ๗. เป็นคนมีปัญญา

เหตุให้สัทธรรมลบเลือนเสื่อมสูญ

(๒)  ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

(๓)  ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม คือ 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ๑
ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ๒
ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่บอกธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ๓
ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ๔
ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ตรึกตรอง ไม่เพ่งดูด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร ๕

(๔)  ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม คือ 

ภิกษุทั้งหลายใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี ๑
ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ ๒
ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก ๓
ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้น เป็นตัวอย่าง ประชุมชนเหล่านั้นก็เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ๔
สงฆ์เป็นผู้แตกกัน เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมไม่เลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเหินห่าง  ๕

เหตุปัจจัยให้พระสัทธธรรมดำรงอยู่ไม่นาน

(๕) เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในกันและกัน นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ในกันและกัน นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว

เหตุให้เกิดการลบล้างธรรมวินัย

(๖) ในอนาคตเมื่อภิกษุทั้งหลายไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา

๑. เมื่อให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาได้ กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรม ศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา

๒. เมื่อให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาได้ กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรม ศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา

๓. เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิดก็จักไม่รู้สึก

๔. พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้ง เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อบุคคลแสดงพระสูตรเหล่านั้นอยู่ ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ ไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทกวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อบุคคลแสดงพระสูตรเหล่านั้นอยู่ ก็ฟังด้วยดี เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ ฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน

๕. ภิกษุผู้เถระเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง

เพราะเหตุ ๕ ประการนี้ การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย

บุคคลผู้แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม

(๗)บุคคลพูดมาก ๑
พูดคำพูดที่ผู้อื่นพูดแล้วมาก ๑
พูดปรารภตน ๑
เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านฟังธรรม ๑
เป็นผู้มีจิตไม่แน่วแน่ มนสิการโดยอุบายไม่แยบคาย ๑
(๘) เป็นผู้มีปัญญาทราม โง่เง่า ๑
เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑
(๙) บุคคลเป็นผู้ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม ๑
เป็นผู้อันความลบหลู่ครอบงำ มีจิตแข่งดีฟังธรรม ๑
เป็นผู้แสวงโทษ มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม มีจิตกระด้าง ๑

บุคคลผู้ฟังสัทธรรมอยู่ เป็นผู้ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม

(๗) บุคคลย่อมไม่พูดมาก ๑
ไม่พูดคำพูดที่ผู้อื่นพูดแล้วมาก ๑
ไม่พูดปรารภตน ๑
เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่านฟังธรรม ๑
เป็นผู้มีจิตแน่วแน่มนสิการโดยอุบายแยบคาย ๑
(๘) เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เง่า ๑
ไม่เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑
(๙) บุคคลย่อมไม่เป็นผู้ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม ๑
เป็นผู้อันความลบหลู่ ไม่ครอบงำ ไม่มีจิตแข่งดีฟังธรรม ๑
เป็นผู้ไม่แสวงโทษ ไม่มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม ไม่มีจิตกระด้าง ๑


 

อ้างอิง: 
(๑) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๔๓๘ หน้า ๒๒๗
(๒) สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕๔ หน้า ๑๖๐
(๓) สัทธรรมสัมโมสสูตรที่  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕๕ หน้า ๑๖๐-๑๖๑
(๔) สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕๕ หน้า ๑๖๑-๑๖๓
(๕) กิมพิลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๐๑ หน้า ๒๒๐
(๖) อนาคตสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๗๙ หน้า ๙๑-๙๓
(๗) สัทธรรมนิยามสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕๑ หน้า ๑๕๘
(๘) สัทธรรมนิยามสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕๒ หน้า ๑๕๘-๑๕๙
(๙) สัทธรรมนิยามสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕๓ หน้า ๑๕๙

 

คำต่อไป