Main navigation
เสขิยวัตร
Share:

เสขิยวัตร 75 เป็นส่วนหนึ่งของพระวินัยของพระภิกษุในศีล 227 ข้อ กล่าวคือเป็นวัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษาธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียก หรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ เป็นพุทธบัญญัติที่ได้เตือนสติให้ภิกษุสงฆ์พึงสำรวมกาย วาจา ใจ เมื่อเข้าไปอยู่ในที่ชุมชนหรือในละแวกบ้านของผู้อื่น เพื่อยังให้บุคคลในชุมชนนั้นๆ เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา 

โครงสร้างศีล 227 ข้อ

เสขิยวัตร ประกอบด้วย 4 หมวด

หมวด “สารูป” มี 26 สิกขาบท - ว่าด้วยกิริยามารยาที่ควรประพฤติในเวลาเข้าไปในหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่การนุ่งห่ม การสำรวม ระวังอิริยาบถ การพูดคุย ให้อยู่ในอาการที่เหมาะสม

หมวด “โภชนปฏิสังยุต” มี 30 สิกขาบท - ว่าด้วยกิริยามารยาทที่ควรประพฤติในการรับบิณฑบาต และการฉันภัตตาหาร

หมวด “ธรรมเทสนาปฏิสังยุต” มี 16 สิกขาบท - ว่าด้วยกิริยามารยาทในการแสดงธรรมแก่ผู้อื่น

หมวด “ปกิณกะ” มี 3 สิกขาบท - ว่าด้วยกิริยามารยาท ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

รายละเอียด เสขิยวัตร

หมวด “สารูป” มี 26 สิกขาบท : ว่าด้วยกิริยามารยาทที่ควรประพฤติในเวลาเข้าไปในหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่การนุ่งห่ม การสำรวม ระวังอิริยาบถ การพูดคุย ให้อยู่ในอาการที่เหมาะสม

1. นุ่งให้เป็นปริมณฑล (ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง)
2. ห่มให้เป็นปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน)
3. ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน
4. ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน
5. สำรวมด้วยดีไปในบ้าน
6. สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน
7. มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่)
8. มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน
9. ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน
10. ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน
11. ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน
12. ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน
13. ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน
14. ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน
15. ไม่โคลงกายไปในบ้าน
16. ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน
17. ไม่ไกวแขนไปในบ้าน
18. ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน
19. ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน
20. ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน
21. ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน
22. ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน
23. ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน
24. ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน
25. ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
26. ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน

หมวด “โภชนปฏิสังยุต” มี 30 สิกขาบท : ว่าด้วยกิริยามารยาทที่ควรประพฤติในการรับบิณฑบาต และการฉันภัตตาหาร

1. รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ
2. ในขณะบิณฑบาต จะแลดูแต่ในบาตร
3. รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป)
4. รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร
5. ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ
6. ในขณะฉันบิณฑบาต แลดูแต่ในบาตร
7. ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง)
8. ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป
9. ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
10. ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก
11. ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้
12. ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
13. ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
14. ทำคำข้าวให้กลมกล่อม
15. ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง
16. ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
17. ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก
18. ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก
19. ไม่ฉันกัดคำข้าว
20. ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
21. ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
22. ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
23. ไม่ฉันแลบลิ้น
24. ไม่ฉันดังจับๆ
25. ไม่ฉันดังซูด ๆ
26. ไม่ฉันเลียมือ
27. ไม่ฉันเลียบาตร
28. ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
29. ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
30. ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน

หมวด “ธรรมเทสนาปฏิสังยุต” มี 16 สิกขาบท : ว่าด้วยกิริยามารยาทในการแสดงธรรมแก่ผู้อื่น

1. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
2. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
3. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
4. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
5. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท้่า (รองเท้าไม้)
6. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
7. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
8. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
9. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
10. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
11. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
12. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
13. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
14. ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
15. ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
16. ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง

หมวด “ปกิณกะ” มี 3 สิกขาบท : ว่าด้วยกิริยามารยาท ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

1. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
2. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)
3. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ

 

อ้างอิง:  
เสขิยกัณฑ์ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อที่ ๘๐๐-๘๗๙ หน้า ๖๕๙-๗๑๕

คำต่อไป