Main navigation
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
Share:

(๑) ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา

หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา

หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา

หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส

หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส

หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส

หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส

หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส

หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง ย่อมมีอยู่

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่

(๒) เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมละความพอใจในเวทนานั้นได้ เพราะละความพอใจได้ จึงเป็นอันชื่อว่ากระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

(๓) เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมกำหนดรู้เวทนาได้ เพราะกำหนดรู้เวทนาได้ จึงเป็นอันชื่อว่ากระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

 

 

 

อ้างอิง:
(๑) มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๘๘
(๒) ฉันทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๐๗
(๓) ปริญญาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๘๑๑
 

คำต่อไป