Main navigation
วิเวก
Share:

(๑) วิเวก ๓ คือ

กายวิเวก ๑
จิตตวิเวก ๑
อุปธิวิเวก ๑

กายวิเวกเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่ คือ เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งอยู่ในที่หลีกเร้นผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวอยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติรักษา เป็นไป ให้เป็นไป นี้ชื่อว่า กายวิเวก

จิตตวิเวกเป็นไฉน

ภิกษุเข้าปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์

เข้าทุติยฌาน มีจิตสงัดจากวิตกและวิจาร

เข้าตติยฌาน มีจิตสงัดจากปีติ

เข้าจตุตถฌาน มีจิตสงัดจากสุขและทุกข์

เข้าอากาสานัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา

เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา

เข้าอากิญจัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา

เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

(เมื่อภิกษุนั้น) เป็นโสดาบันบุคคล มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น

เป็นพระสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ ๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น

เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด ๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์อย่างละเอียดเป็นต้นนั้น

เป็นพระอรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่า จิตตวิเวก

อุปธิวิเวกเป็นไฉน

กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่าอุปธิ

อมตนิพพานเรียกว่าอุปธิวิเวก ได้แก่ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่า อุปธิวิเวก

ก็กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก ผู้ยินดียิ่งในเนกขัมมะ

จิตตวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง

อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิ ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร

(๒) บุคคลดื่มรสอันเกิดแต่วิเวกและรสพระนิพพาน เป็นที่เข้าไปสงบ ดื่มรสปีติอันเกิดแต่ธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป


วิเวกเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพาน

(๓) ปฏิปทาอันเข้าอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ปฏิปทาเครื่องให้ถึงนิพพานเป็นอย่างหนึ่ง ภิกษุทราบปฏิปทาสองอย่างนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนือง ๆ

(๔) ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย

ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้น จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้น จักบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังบรรลุเจโตวิมุติอันน่าปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นเป็นฐานะที่มีได้


การอยู่คนเดียวที่บริบูรณ์

(๕) ผู้เดียวเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เป็นผู้เดียวเดินกลับ ย่อมนั่งในที่ลับผู้เดียว และย่อมเป็นผู้เดียวอธิษฐานจงกรม มีปรกติอยู่คนเดียว และมักกล่าวสรรเสริญการอยู่คนเดียว

การอยู่คนเดียวนี้มีอยู่ จะกล่าวว่าไม่มีก็หาไม่  อนึ่ง การอยู่คนเดียวย่อมบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างไร

ในข้อนี้ สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว ฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบันถูกกำจัดแล้วด้วยดี การอยู่คนเดียวย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างนี้

เราย่อมเรียกนรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้น ในเพราะนิพพานเป็นที่สิ้นตัณหา ว่าเป็นผู้มีปรกติอยู่คนเดียว


คฤหัสถ์ก็พึงเจริญวิเวก

(๖) ท่านทั้งหลายได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า พวกเราพึงเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ (เข้าปฐมฌาน) ตามกาลอันสมควร

สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ ๕ ประการ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น คือ

ทุกข์โทมนัสอันประกอบด้วยกาม ๑
สุขโสมนัสอันประกอบด้วยกาม ๑
ทุกข์โทมนัสอันประกอบด้วยอกุศล ๑
สุขโสมนัสอันประกอบด้วยอกุศล ๑
ทุกข์โทมนัสอันประกอบด้วยกุศล ๑

ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น


น้อมวิเวก อาศัยวิเวกในการอบรมจิตเพื่อละสังโยชน์ เพื่อนิพพาน วิชชา และวิมุตติ

(๗) ก็ภิกษุเจริญอินทรีย์ ๕ กระทำให้มากซึ่งอินทรีย์ ๕ อย่างไรเล่า ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญย่อมเจริญวิริยินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสตินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสมาธินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปัญญินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ภิกษุเจริญอินทรีย์ ๕ กระทำให้มากซึ่งอินทรีย์ ๕ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน


อินทรีย์ ๕ อันภิกษุพึงเจริญเพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละซึ่งสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญย่อมเจริญวิริยินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสตินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสมาธินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปัญญินทรีย์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละซึ่งสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ นี้แล


(๘) ก็ภิกษุเจริญพละ ๕ กระทำให้มากซึ่งพละ ๕ อย่างไร ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัทธาพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญย่อมเจริญวิริยพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสติพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสมาธิพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปัญญาพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ภิกษุเจริญพละ ๕ กระทำให้มากซึ่งอินทรีย์ ๕ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน


พละ ๕ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้แล พละ ๕ เป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัทธาพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญย่อมเจริญวิริยพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสติพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสมาธิพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปัญญาพละ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

พละ ๕ เหล่านี้อันภิกษุพึงเจริญเพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องบน ๕ เหล่านี้


(๙) ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาวาจา อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาสัมมากัมมันตะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาสัมมาวายามะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาสัมมาสติ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ


(๑๐) โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญธัมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

โพชฌงค์ ๗ อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้สมบูรณ์


(๑๑) ก็ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไร ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญธัมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน


เจริญอริยมรรคและอินทรีย์มีวิเวกอย่างไร

(๑๒) ภิกษุเจริญอริยมรรคและอินทรีย์ มีวิเวก ๕ เหล่านี้ เป็นไฉน คือ

วิกขัมภนวิเวก

วิเวกในการข่มนิวรณ์ของภิกษุผู้เจริญปฐมฌาน

ตทังควิเวก

วิเวกในการละทิฐิด้วยองค์นั้น ๆ ของภิกษุผู้เจริญสมาธิมีส่วนในการทำลายกิเลส (วิเวกด้วยองค์นั้น ๆ คือ วิเวกกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงข้าม เป็นการวิเวกชั่วคราวในกรณีนั้น ๆ - พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต))

สมุจเฉทวิเวก

สมุจเฉทวิเวกของภิกษุผู้เจริญโลกุตรมรรคอันให้ถึงความสิ้นไป (วิเวกด้วยตัดขาด คือ วิเวกกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาดด้วยโลกุตตรมรรคในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อสมุจเฉทวิเวก - พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต))

ปฏิปัสสัทธิวิเวก

ปฏิปัสสัทธิวิเวกในขณะผล (วิเวกด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรควิเวกกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อวิเวกอีกในขณะแห่งผล - พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต))

นิสสรณวิเวก

นิสสรณวิเวกเป็นที่ดับ คือ นิพพาน (วิเวกด้วยสลัดออกได้ หรือวิเวกด้วยปลอดโปร่งไป คือ วิเวกกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสวิราคะแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณวิราคะ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน - พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต))

สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ มีวิเวก ๕ เหล่านี้

ภิกษุเป็นผู้เกิดฉันทะ น้อมใจไปด้วยศรัทธา และมีจิตตั้งมั่นด้วยดีในวิเวก ๕ นี้


จิตที่อบรมแล้วย่อมน้อมไปในวิเวก

(๑๓) ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ จักลาสิกขาสึกออกเป็นคฤหัสถ์มาบริโภคโภคะและกระทำบุญ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่าจิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนานนั้น จักสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

(๑๔) ภิกษุขีณาสพเป็นผู้มีจิตโน้มไป น้อมไป โอนไปในวิเวก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ เป็นจิตสิ้นไปจากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพ

(๑๕) ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้น ๆ คือ ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้น ๆ ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง จะเป็นผู้เจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น

 

อ้างอิง:
(๑) วิเวก ๓ มหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ ข้อที่ ๒๒๙
(๒) คาถาธรรมบท สุขวรรค (เรื่องพระติสสเถระ) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่
(๓) คาถาธรรมบท พาลวรรค (เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ) พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๕
(๔) มหาสุญญตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๓๔๕
(๕) เถรนามสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๗๑๖-๗๒๑
(๖) ปีติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๗๖
(๗) คังคาทิเปยยาล พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๐๘๒-๑๐๘๕
(๘) พลสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๑๐๑-๑๑๐๓
(๙) พลกรณียสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๒๖๕
(๑๐) กุณฑลิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๓๙๙
(๑๑) กูฏสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๐๒
(๑๒) วิเวกกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๗๐๕-๗๐๙, ๗๑๓-๗๑๔
(๑๓) นทีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๒๙๖
(๑๔) พลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๙๐
(๑๕) มหาสุญญตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๓๔๖
 
 

คำต่อไป