Main navigation

การฝึกจิต ทำไมจึงเป็นการทวนกระแส

Q ถาม :

โดยธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่างจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ คือถ้าเราหลงในกิเลสมันง่ายและมันก็จะพาเราไปสู่อบายภูมิ แต่ทำไมธรรมะเป็นลักษณะเหมือนกับปลาที่ต้องว่ายทวนน้ำ คือไม่เข้าใจว่าการที่จะไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นนั้น มันจะต้องฝึกตนหรือจะต้องฝึกกฎระเบียบให้กับตัวเอง

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มันขึ้นอยู่กับภูมิจิต ถ้าเราเป็นภูมิจิตที่กำลังไหลลงต่ำก็ต้องว่ายทวนน้ำ แต่ถ้าเราเป็นภูมิจิตที่ทะยานขึ้นสู่ที่สูงอยู่แล้วโดยธรรมชาติ มันก็ไม่ต้องทวน มันก็ทะยานขึ้นสู่ที่สูงเลย คือน้ำนั้นมีมวล หนัก มีความถ่วงจำเพาะ น้ำก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำ แต่พอน้ำกลายเป็นไอน้ำ น้ำก็ลอยขึ้นสู่ที่สูงได้ พอน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง น้ำก็ stable อยู่กับที่ ดังนั้น น้ำมีได้หลาย form

ธรรมะก็เช่นกัน ธรรมะสำหรับคนที่กำลังต้องการออกจากทุกข์ ในขณะที่จิตเป็นทุกข์จริง ๆ มันรู้สึกต้องฝืนเยอะ ต้องทวนเยอะ เช่น เรากำลังวิตกกังวล เราจะเอาชนะความวิตกกังวล มันต้องทวนกระแสของความวิตกกังวล เรากำลังฟุ้งซ่าน ก็ต้องทวนแหวกความฟุ้งซ่านออกไปให้ได้

พอถึงจุดหนึ่งพอเรามีความสงบระงับเป็นปกติ มันไม่ต้องทวน มันแค่ชำระความสงบนั้นให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น แค่นั้นเอง จิตสงบแล้วนั้นจะไปตามน้ำ แล้วชำระสุขให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นจนเป็นปรมัง สุขัง เหลือแต่รู้บริสุทธิ์พุทธะ

ดังนั้น จะทวนหรือจะตาม ขึ้นอยู่กับภูมิจิต ซึ่งส่วนใหญ่ภูมิของพวกเราก็พอสมควร แต่บางคนอาจจะต้องทวนบ้าง ตามบ้าง โดยเฉพาะตอนอยู่กับโลก พระพุทธเจ้าบอกว่าโลกมีอวิชชาห่อหุ้มตัณหาฉาบทา บ่อยครั้งต้องทวนกระแสจึงจะออกจากอวิชชาได้

การทวนกระแสชุดแรก ก็คือชักคะเย่อของจิตสำนึกของเราเองกับสิ่งที่โลกพยายามจะให้เราเป็น อันนี้เป็นชักคะเย่อชุดแรกที่จะต้องดึงกัน ทำปฏิกิริยากัน บางครั้งบางคราวโลกก็ชนะ บางครั้งบางคราวเราก็ชนะ บางทีเราอยู่กับโลกก็ต้องอะลุ่มอล่วยกับโลกบ้าง พอเราชนะเราก็รู้สึกเป็นอิสระ บริหารสถานการณ์ได้ นั่นการทวนกระแสชุดแรก

การทวนกระแสชุดที่สอง คือชักคะเย่อในใจเราเอง ระหว่างเจตสิกที่ไม่ดีกับเจตสิกที่ดี ในแต่ละสถานการณ์บางทีมันมีเจตสิกที่ไม่ดี เช่นโกรธ เช่นหลง เช่นโลภ แต่ในขณะเดียวกันจิตสำนึกคุณธรรมออกมาบอกว่าอย่าโกรธเลยน่ะมันไม่ควร ก็ชักคะเย่อกันอีก อันนี้ชักคะเย่อภายในเอง

ส่วนคนที่จิตฝ่ายดีแข็งแรงอยู่แล้วก็ไม่ต้องชักคะเย่อ มันจะตัดสินใจได้ง่ายมาก ทันทีเลย ไม่เสียเวลาโกรธให้โง่หรอก แค่ไม่รับอิทธิพลแล้วเดินจากไปสู่อิสรภาพ

การทวนกระแสชุดที่สาม คือ ชักคะเย่อระหว่างดีที่ต่างเกณฑ์ เช่น จะเป็น Family Man ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว ก็ดี และเหนื่อยยาก แต่ไม่บรรลุธรรม จิตก็ยังไม่สงบสุข ขยายไปอีกหน่อยทำดีเพื่อองค์กร ยิ่งองค์กรที่เน้นกำไร บางครั้งเพื่อจะทำยอดให้ได้ตามเป้าอาจเผลอหลอกล่อ ฉ้อ เอาเปรียบไปบ้าง ความรู้สึกระดับหยาบจะรู้สึกดีที่ประสบความสำเร็จตามเกณฑ์บริษัท แต่สำนึกคุณธรรมระดับลึกจะแกว่งกลวง ทั้งไม่สงบสุข ไม่บรรลุธรรม ต้องไปเป็นเปรต

หรือจะทำความดีเพื่อประเทศชาติ ต้องต่อสู้เพื่อความถูกต้องยากลำบาก เพื่อความผาสุกของประชาชน ดี๊ดี แต่เต็มไปด้วยศัตรูคู่แข่ง ไม่บรรลุธรรมไม่ผ่องใส 

แต่จิตลึก ๆ ทุกคนอยากเป็นสุขบริสุทธิ์ถาวร ไม่ทุกข์อีก ก็ต้องบรรลุธรรม พอจะบรรลุธรรมต้องทิ้งความดีระดับครอบครัว ระดับบริษัท ระดับประเทศชาติออก ไปสู่ความดีสูงสุดคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตรงนี้ก็ต้องทวนกระแสความเคยชิน และกระแสเรียกร้องให้รับผิดชอบมากมายรอบด้าน

แต่คนที่ออกมาได้แล้ว ได้รับความสงบสุขในใจแล้ว ก็ไม่ต้องทวนกระแสอีก แค่ชำระจิตให้หมดจดจนถึงที่สุด ก็สุดการแสวงหา เพราะถึงที่สุดแห่งวิวัฒนาการแล้ว