Main navigation

การทำดีกับการเป็นที่ยอมรับ

Q ถาม :

ท่านอาจารย์คะ บางครั้งหนูก็แอบแปลกใจในระบบกรรมไม่ได้ ทำไมคนที่ทุ่มเททำงานธรรมะไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนคนที่ nice แต่ไม่มีผลงานโดดเด่นอะไร หรือคนสภาวะจิตดี แต่ไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนคนที่ลุยงานมาก

อะไรเป็นวิบากเป็นอานิสงส์ของการทำดีแต่ละประเภทคะ และจะทำอย่างไรจึงจะมีคุณสมบัติพร้อมทุกด้านคะ เพราะคิดว่าถ้าคุณสมบัติครบ น่าจะทำประโยชน์แก่โลกได้มากกว่า

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มาดูของจริงก่อน แล้วค่อยสรุปหลักการ

พระราธะ สำเร็จอรหันต์แล้ว ได้รับการยอมรับในสภาวะจิต แต่ความอบอุ่นในหมู่คณะน้อย เพราะไม่มีอัธยาศัยให้ทานมาก่อน ความเอื้อเฟื้อน้อย

พระราหุล nice มาก ใฝ่เรียน ใฝ่ปฏิบัติ และให้ทานสละตนมามากในอดีต เป็นที่รักที่อุ้มชูของพระเถระและเทวดาทั้งหลาย

พระเทวทัต มีฤทธิ์มาก แต่ใช้ฤทธิ์สร้างทิฏฐิมานะ ทำให้สงฆ์แตกแยก ในที่สุดต้องบรรลุธรรมอย่างโดดเดี่ยว เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ไร้ศิษย์ ไร้บริวาร เพราะขาดความเคารพในหมู่คณะ จะเอาแต่ความต้องการของตนเป็นใหญ่

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มีปัญญามาก มีฤทธิ์มาก บรรลุธรรมแล้ว ทุ่มเททำเพื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม และหมู่คณะ เป็นที่เคารพนับถือยกย่องอย่างกว้างขวาง

พระอานนท์ ยังไม่สำเร็จอรหันต์ แต่ทุ่มเททำเพื่อพระพุทธเจ้าและหมู่คณะเต็มกำลัง เป็นที่รัก เคารพรักอย่างยิ่ง ขนาดเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ ๆ ประชาชนยังปลอบใจกันว่า พวกเราอย่าเศร้าโศกเสียใจนักเลย แม้พระผู้มีพระภาคทรงดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว แต่ท่านพระอานนท์ยังอยู่

พระมหากัสสปะ ธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว รู้ว่าต้องมีการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่เพื่อเป็นแผนที่ของพระศาสนาสืบไป จึงสละความสุขสบายส่วนตัวในการอยู่ป่า มาอยู่ในหมู่คณะเพื่อทำการสังคายนาหลายเดือน ได้รับการยกย่องให้เป็นประธานสงฆ์องค์แรกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

ท่านพระมหากัจจายนะ ทั้งก่อนบรรลุธรรมและหลังบรรลุธรรม เป็นผู้ที่เจริญอัปปมัญญาเจโตวิมุตติโดยมาก เป็นที่รักของมหาชนทั้งหลาย จนมหายานยกย่องท่านดั่งศาสดาองค์ที่สองเลย

ญาติพระเจ้าพิมพิสาร ในอดีตกาลเคยยักยอกอาหารที่เขาเตรียมถวายพระพุทธเจ้า ด้วยกรรมนั้นทำให้ไปเป็นเปรตหลายกัปหลายกัลป์ จนมาชาติสุดท้ายพระพุทธเจ้าโปรดให้สำนึกผิดแล้ว ให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศกุศลไปให้ จึงพ้นภพเปรตได้


สรุปหลักการ

1. การยอมรับในสภาวะ การยอมรับในผลงาน การยอมรับในบุคคล เป็นคนละอย่างกัน มีเหตุเกิดและปัจจัยแห่งความเจริญงอกงามต่างกัน

2. กิเลสที่ทำให้คนไม่เป็นที่ยอมรับ แม้จะมีฤทธิ์มาก มีความรู้มาก คือ ทิฏฐิมานะ เพราะทิฏฐิมานะมีธรรมชาติกระทบกระทั่งผู้อื่นเนือง ๆ แม้ไม่ได้พูดอะไรเลย รังสีทิฏฐิมานะก็กระทบคนอื่นตลอดเวลา พวกนี้ในที่สุดต้องบรรลุธรรมโดดเดี่ยว ไร้ศิษย์ ไร้บริวาร

3. อัธยาศัยไมตรี ความเคารพให้เกียรติกัน และการทุ่มเทเพื่อหมู่คณะ คือเหตุปัจจัยให้อยู่ในหมู่คณะได้อย่างอบอุ่น

4. การทำบาปต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หมู่คณะ นอกจากไม่บรรลุธรรมแล้ว ยังต้องลงอบายด้วย

ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่ามีสภาวะดีแล้วหรือมีความรู้ทางธรรมมากแล้ว จะเป็นเหตุให้ได้ทุกอย่าง ต้องเจริญเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จให้บริบูรณ์ด้วย


ทำอย่างไรจึงมีคุณสมบัติดี ๆ ที่ควรมีครบ

เจริญ perfect character

1. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ ทาน อย่างเหมาะสม

2. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ ศีล อย่างสะอาด

3. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ เนกขัมมะ (สละกาม) อย่างหมดจด

4. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ เจริญปัญญา อย่างแม่นยำ

5. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ ความเพียร อย่างสายกลาง

6. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ ความอดทน อย่างชาญฉลาด

7. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ สัจจะ อย่างเที่ยงตรงต่อธรรม

8. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ อธิษฐาน ตั้งใจทำอะไรแล้วทำจริงจนสำเร็จ

9.  ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ เมตตา อย่างเป็นสากล

10. ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ อุเบกขา อย่างสงบสุข


 

 

ที่มา
5 April 2023