Main navigation

จะเห็นโมหะและอวิชชาในชีวิตประจำวันได้อย่างไร และจะจัดการอย่างไร

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ผมพิจารณาการทำงานของจิตกับเจตสิกไปมาหลายรอบ ผมเข้าใจว่า อกุศลจิตทั้งหมดมีรากมาจากโมหะ เพราะในโทสะก็มีโมหะเป็นฐาน ในโลภะก็มีโมหะเป็นฐาน ในอกุศลจิตทุกดวงก็มีโมหะเป็นฐานหมดเลย ผมจึงเห็นว่าโมหะนี่แหละคือตัวการใหญ่ ท่านอาจารย์ก็เคยสอนว่า โมหะเป็นผลงานของอวิชชาโดยตรง

จึงขอเรียนถามว่า เราจะเห็นโมหะและอวิชชาในชีวิตประจำวันได้อย่างไรครับ และจะจัดการกับตัวพ่อตัวแม่ของความเลวร้ายสองตัวนี้ได้อย่างไรครับ ผมเบื่อหน่ายกับจิตปรุงแต่งเต็มที ขอความกรุณาท่านอาจารย์ด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ลึกซึ้งดีมาก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อวิชชา ๘ คือ

๑. ไม่รู้ทุกข์

เพราะไม่รู้ว่าทุกข์คือภาวะบีบเค้นธรรมชาติซึ่งมีอยู่ทุกหนแห่งในสิ่งที่ประกอบเหตุปัจจัยกันเกิดขึ้น (สังขารทั้งปวง) จิตควรกำหนดรู้แล้วปล่อยผ่าน แต่เพราะไม่รู้ทุกข์โดยความเป็นธรรมชาติ จิตจึงซุกเข้าไปในทุกข์จนเกิดทุกขเวทนา แล้วเสพทุกข์จนเกิดทุกขสัญญา แล้วยึดถือทุกข์จนเกิดอัตตา (ผู้เสพ สะสม แพร่ระบาดทุกข์)

๒. ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์

เพราะไม่รู้เหตุแห่งทุกข์โดยความเป็นผู้สร้างทุกข์ และอาการแห่งทุกข์ อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา กิเลสนานา อุปาทาน จิตจึงปั้นแต่ง ปรุงแต่งอวิชชา ตัณหา กิเลสนานา อุปาทาน ให้พิสดารจนบานปลาย กลายเป็นโรงงานผลิตทุกข์ ทุกข์ที่แข็งขันทำงานต่อเนื่องและสร้างความเหนื่อยยากที่สุดในชีวิต หากจะจบชีวิตแล้วโรงงานสมุทัยยังอยู่ ก็จะดิ้นรนไปปั้นสังขารใหม่ไปในวัฏฏะทุกข์ต่อเนื่อง

๓. ไม่รู้จักความดับทุกข์

เพราะไม่รู้ว่า จิตใจไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์ สภาวะที่ไร้ทุกข์สิ้นเชิง (นิโรธ) มีอยู่ จิตจึงจำนนวนเวียนอยู่วงกตทุกข์ ไม่ตั้งใจออกจากทุกข์ แค่พยายามหาเทคนิคให้เป็นสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในท่ามกลางทะเลทุกข์ จึงต้องทนทุกข์ไม่รู้จบ เดี๋ยวจมเดี๋ยวลอย ตุ๊บป่องไปตามกระแสคลื่นแห่งผัสสะในแต่ละสถานการณ์

๔. ไม่รู้จักวิถีสู่ความพ้นทุกข์

เพราะไม่รู้จักเรือพาออกจากทะเลทุกข์ จึงไม่ยอมขึ้นเรือ จึงยังต้องแหวกว่ายไปในทะเลทุกข์ตามยถากรรมต่อไป หรือบางคนพบเรือพาออกจากทุกข์แล้ว แต่ไม่ตั้งใจขึ้นให้จริงจังเต็มตัว จึงพลัดตกลงไปในทะเลทุกข์อีก

๕. ไม่รู้จักอดีต

เพราะไม่รู้จักอดีต จึงไม่รู้ความเป็นมาแห่งวิวัฒนาการที่ทำให้เป็นอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่รู้ความเป็นมาก็ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีแล้วในอดีตให้เกิดประโยชน์ ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่พัฒนาใหม่ทุกชาติไป เมื่อไม่รู้ความเป็นมาก็ไม่ได้ป้องกันปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เลยสร้างปัญหาซ้ำเดิมอีกเนือง ๆ จึงเรียนซ้ำชั้นไม่รู้จบ สร้างปัญหาเดิม ๆ ไม่รู้จบ ไม่มีพัฒนาการที่เจริญก้าวหน้า 

๖. ไม่รู้จักอนาคต

เพราะไม่รู้จักอนาคต จึงไม่รู้ว่าที่สุดแห่งวิวัฒนาการเป็นอย่างไร ในที่สุดจิตใจนี้จะไปไหน เมื่อไม่รู้เป้าหมายอันไปที่สุด จึงเดินวนเวียนอยู่ที่เดิม ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่เดิม ไร้พัฒนาการสู่ที่สุด

๗. ไม่รู้จักทั้งอดีตและอนาคต

เพราะไม่รู้จักทั้งอดีตและอนาคต จึงถูกสิ่งแวดล้อมปัจจุบ้นครอบงำ ชักจูงไปทางนั้นที ทางโน้นที กลายเป็นทาสสถานการณ์ไปวัน ๆ เมื่อเป็นทุกข์ขึ้นมาก็กัดกันอยู่ในกรงเวลาอันคับแคบนั้น

๘. ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท

เพราะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายในโลกในจักรวาลเกิดแต่เหตุ ผลหนึ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น เมื่อจะดับต้องดับที่เหตุ เช่น

เพราะอวิชชา จึงมีสังขาร การปรุงแต่งทั้งปวง

เพราะมีสังขาร จึงมีวิญญาณ ธาตุรู้ผลการปรุงแต่งนั้น

เพราะมีวิญญาณ จึงมีนามรูป ใจและกาย

เพราะมีนามรูป จึงมีสฬายตนะ ระบบประสาท ๕ และมโนธาตุ ๑

เพราะมีอายตนะ จึงมีผัสสะ การสัมผัสโลก การเสพโลก

เพราะมีผัสสะ จึงมีเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ

เพราะมีเวทนา จึงมีตัณหา อยาก-ไม่อยาก เสพอีก (กาม) เป็นอีก (ภวะ) ทำลายล้าง (วิภาวะ)

เพราะมีตัณหา จึงมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น

เพราะมีอุปาทาน จึงมีภพ ภาวะความเป็นอยู่เป็นไปตามที่ยึดถือ

เพราะมีภพ จึงมีชาติ สำเร็จการเกิดในภพที่ถักสานไว้

เพราะมีชาติ จึงมีความเสื่อมตามกฎธรรมชาติของการปรุงประกอบ (ชรา) ความสลาย (ตาย) ความทุกข์ ความโศก ความร่ำไรรำพัน (เสียดาย) ความคับแค้นใจ (ไม่ได้ดังใจ) ความแห้งใจ (ผิดหวัง หมดหวัง)  

เป็นอันว่าทุกข์ทั้งปวงย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นเหตุ ปั้นปรุงแต่งปัจจัยแห่งทุกข์ไปตามกลไกปฏิจจสมุปบาท

เพราะไม่รู้กลไกนี้ เมื่อเป็นทุกข์ จึงโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุให้ตนเป็นทุกข์บ้าง โทษคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุให้ตนเป็นทุกข์บ้าง

เมื่อโทษตนเอง ก็ลงโทษทำร้ายตนเอง ก็ทุกข์หนักยิ่งกว่าเดิมอีก

เมื่อโทษคนอื่น ก็ลงโทษทำร้ายคนอื่น เกิดบาปกรรมบานปลาย ก็ทุกข์กระจายกว้างไกลกว่าเดิมอีก

พระผู้มีพระภาคจึงทรงสอนว่า "สิ่งใดเกิดแต่เหตุ เมื่อจะดับก็ดับที่เหตุ" จึงได้ผลเบ็ดเสร็จถาวร ไม่ต้องสร้างปัญหาใหม่ทับถมปัญหาเก่า

เมื่อทุกข์ทั้งหลายเกิดแต่อวิชชา การดับทุกข์ก็ดับที่อวิชชา ก็จบ

การที่ไม่รู้เห็นกลไกผลแห่งเหตุและเหตุแห่งผลนี้ จึงเป็นอวิชชา อวิชชายังทำงานสร้างทุกข์อยู่อย่างต่อเนื่อง


โมหะ

โมหะ คือ ความหลงผิด หลงใหล หลงยึด หลงสมมติ หลงเมามัน หลงเสียสติ หลงไร้วิจารณญาณ (ปัญญา) หลงประมาท


เข้าใจผลของโมหะ และผลของการดับโมหะ

ใน มลสูตร (๒๕/๒๖๘/๒๓๐) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

โมหะทำให้เกิดความฉิบหาย
โมหะทำจิตให้กำเริบ
ชนไม่รู้สึกโมหะอันเกิดในภายในว่าเป็นภัย
คนหลงย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม
โมหะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด
ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น
ก็บุคคลใดละโมหะได้ขาด
ย่อมไม่หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
บุคคลนั้นย่อมกำจัดความหลงได้ทั้งหมด
เปรียบเหมือนพระอาทิตย์อุทัยขจัดความมืด ฉะนั้น


เข้าใจโมหะในพระอภิธรรม

โมหะเกิดแต่อวิชชา และผลิตลูกหลานต่อเนื่อง

ผลงานชั้นที่ ๑ - เป็นโมหมูลจิตโดยตรง

๑. อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ 

จิตหลงเกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเป็นลูกของอวิชชา เป็นโมหะแรกที่เกิด (ในสังโยชน์ อุทธัจจะจึงอยู่ถัดจากอวิชชา) เพราะไม่รู้จึงคิดพล่านฟุ้งซ่าน หากจิตรู้แจ้งจริง ความคิดพล่านจะไม่มี มีแต่ความแจ่มแจ้งสว่างกระจ่างอยู่อย่างนั้น แต่อวิชชาคือความไม่รู้ จึงปรุงความคิดพล่านฟุ้งซ่าน (โมหะ) ดิ้นรนที่จะรู้ แต่ยิ่งคิดก็ยิ่งสงสัย

๒. อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ 

จิตหลงเกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความสงสัย  ความสงสัยเป็นลูกของอวิชชา+โมหะ เมื่อความคิดเกิดจากอวิชชา ความคิดจึงไม่อาจรู้กระจ่างแจ้งได้ ได้แค่สร้างภาพแห่งความเข้าใจไปตามข้อมูล ถูกบ้าง ผิดบ้าง เนื่องจากรู้ได้นิดหน่อย ไม่รู้อีกมากหน่อย ยิ่งคิดจึงยิ่งสงสัยแตกตัวบานปลายไป

ผลงานชั้นที่ ๒ - โมหะร่วมสร้าง

๑. โลภะมูลจิตทุกดวง มีโมหะร่วมด้วย เพราะหลงผิดจึงโลภ เพราะโลภจึงยิ่งหลงยึด โลภะกับโมหะจึงทำงานร่วมกันตลอด

๒. โทสะมูลจิตทุกดวง มีโมหะร่วมด้วย เพราะหลงยึด เมื่อไม่เป็นไปตามที่ยึดจึงโกรธ เพราะโกรธจึงยิ่งหลงเสียสติ โทสะกับโมหะจึงทำงานร่วมกันตลอด

ผลงานชั้นที่ ๓ - โมหะร่วมเสริม

โมหะจะอยู่ร่วมทำงานร่วมกับอกุศลเจตสิกทุกตัว แม้กิเลสเหล่านี้จะเป็นลูกของโลภะบ้าง โทสะบ้างก็ตาม (เหมือนปู่ย่าตายายก็จะส่งเสริมหลานของตนเสมอ) คือ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มานะ (ความถือตัว) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ) ถีนะ (ความหดหู่) มิทธะ (ความง่วงเหงา)  

นอกจากนี้โมหะยังเสริมการทำงานของอุปกิเลสที่เหลือทุกตัว 


เข้าใจโมหะในชีวิตจริง

โมหะคือความหลงผิด 

สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่โมหะสร้างอุปาทานไปยึดถือมาปั้นให้เป็นตน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยึดถือปั้นแต่งรูปกาย ความรู้สึก ความทรงจำ ความนึกคิดเจตนา การรับรู้ มาแต่งให้เป็นตนแบบต่าง ๆ ทั้งหมดนั้นคือโมหะความหลงผิด

โมหะคือความหลงใหล 

ความหลงจนจิตไหลไปว่า สิ่งนี้เป็นเลิศ สิ่งนี้สุดยอด สิ่งนี้มีค่ามาก สิ่งนี้หายากมาก สิ่งนี้มีราคาแพง สิ่งนี้เป็นที่นิยม สิ่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง เราต้องเข้าใกล้ ต้องมี ต้องได้สิ่งนี้ ใครมีแล้วก็เอามาอวดกันโดยไม่รู้ว่าสิ่งมีค่าสำหรับคนหนึ่ง อาจไร้ค่าสำหรับอีกคนหนึ่งเลย สิ่งมีค่าในบางสมัยอาจไร้ค่าในสมัยอื่นเลย สิ่งมีค่าสำหรับบางกิจอาจไร้ค่าสำหรับกิจอื่น ๆ เลย ทั้งหมดนี้และอื่น ๆ ทำนองนี้ คือโมหะความหลงใหล ยิ่งจิตไหลมากก็ยิ่งหลงมากขึ้นเพราะไร้ฐานที่มั่นแห่งปัญญา

โมหะคือความหลงยึด 

ความหลงยึดว่าอย่างนี้เท่านั้นดี อย่างอื่นเลว อย่างนี้เท่านั้นใช้ได้ อย่างอื่นใช้ไม่ได้ อย่างนี้เท่านั้นมีประโยชน์ อย่างอื่นมีโทษ อย่างนี้เท่านั้นจึงสำเร็จ อย่างอื่นล้มเหลว ทั้งหมดนี้และอื่น ๆ ทำนองนี้ คือ โมหะความหลงยึด ความหลงยึด นอกจากจะเป็นโมหะแล้ว ยังเป็นอุปาทานและโลภะด้วย เป็นปฏิกริยาต่อเนื่องดังนี้ การยึดเป็นอุปาทาน การหลงยึดเป็นโมหะ ยึดแล้วอยากให้เป็นไปตามที่ยึดเป็นโลภะ

โมหะคือความหลงสมมติ

สมมติเป็นความจริงเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันให้ปกติสุข แต่โมหะมักเผลอไปยึดสมมติเป็นจริงเป็นจัง ราวกับว่าสมมติเป็นนายของชีวิต บ้างก็เอาสมมติมาเอารัดเอาเปรียบกัน ข่มเหง ทำร้ายกัน สร้างบาปกรรมมากมาย ซึ่งผิดฐานะหน้าที่ของสมมติ ทั้งหมดนี้และอื่น ๆ ทำนองนี้ คือโมหะความหลงสมมติ

โมหะคือความหลงเมามัน

การเสพโลก การบริโภคอย่างไม่รู้ประมาณความพอเหมาะพอดี การปฏิบัติกิจใด ๆ อย่างสุดโต่ง จนเกิดโทษสะสมต่อเนื่อง เหล่านี้คือโมหะความหลงเมามัน

โมหะคือความหลงเสียสติ  

ความหลงเสียสติ เพราะเสพของมึนเมาทำลายประสาท เพราะอารมณ์รุนแรงจนสติช็อค เหล่านี้คือโมหะความหลงเสียสติ  

โมหะคือความหลงไร้วิจารณญาณ

การเชื่อในความเชื่อสำเร็จรูปทั้งหมด เช่น ในกาลามสูตร คือ เชื่อเพราะฟังตามกันมา เชื่อเพราะถือปฏิบัติสืบกันมา เชื่อเพราะข่าวเล่าลือ เชื่อเพราะมีในตำรา เชื่อเพราะตรรกะ เชื่อเพราะอนุมาน เชื่อเพราะลักษณะอาการที่ปรากฏ เชื่อเพราะตรงกับความคิดของตน เชื่อเพราะดูน่าเชื่อถือ เชื่อเพราะเป็นครูของตน โดยไม่ประเมินผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจริงว่าให้ผลเป็นคุณ (กุศล สุขจริง) หรือให้ผลเป็นโทษ (อกุศล ทุกข์) คือโมหะความหลงไร้วิจารณญาณ

โมหะคือความหลงประมาท

การทำตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจความผิดชอบชั่วดีและผลที่จักตามมา คือ โมหะความหลงประมาท

เหล่านี้คือโมหะในชีวิตประจำวันของปุถุชนทั่วไป  

พอเริ่มเข้าเขตอริยะ โมหะคือความหลงผิดว่าเป็นอัตตา โมหะคือความหลงประมาทในศีลพรต โมหะคือความสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยะ โมหะคือความหลงเสียสติ จะดับหายไป เมื่อดับแล้ว ก็เข้าเขตโสดาบัน และทยอยดับไปเรื่อย ๆ ตามความเจริญแห่งภูมิธรรม


การส่องสำรวจโมหะในจิต

ความคิดพล่านฟุ้งซ่านคือโมหะ เมื่อใดคิดพล่านฟุ้งซ่าน จงกำหนดรู้ทันทีว่า โมหะกำลังดิ้นพล่าน

ความสงสัยคือโมหะ เมื่อใดสงสัย จงกำหนดรู้ทันทีว่า โมหะกำลังสร้างวงกตเวียนวน

คนส่วนใหญ่เวลาสงสัย ก็จะคิดพล่านอีก เพราะหลงผิดว่าความคิดจะแก้ความสงสัยได้ แต่แก้ไม่ได้ เพราะความคิดพล่านก็เป็นโมหะเช่นกัน

สิ่งเดียวที่จะหายสงสัยได้ คือ การเห็นความจริงตรงจริงด้วยปัญญาระดับญาณ จะได้ปัญญาระดับญาณ ต้องหยุดคิด เข้าสมาธิจิต สติเต็ม รู้ชัด จนเกิดแสงจิต ทำแสงจิตให้ผ่องใส มั่นคง จนปรากฏญานรู้บริสุทธิ์เที่ยงตรง


การส่องสำรวจอวิชชาในจิต

อวิชชาปรุงแต่งสังขาร เมื่อใดจิตตสังขารคิด เจตนาเกิดขึ้น จงกำหนดรู้ทันทีว่า อวิชชากำลังทำงาน ดับเจตนา ดับความคิด และการปรุงแต่งในจิตทั้งปวง ยอกย้อนเข้าไปดูรากเหง้าแห่งการปรุงแต่ง ก็จะพบอวิชชา

อวิชชาเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง อวิชชาของแต่ละคนมีสภาพไม่เหมือนกัน

พวกที่ปรุงแต่งความชั่วมาก อวิชชาจะเป็นสีดำ

พวกที่ปรุงแต่งความดีมาก อวิชชาจะเป็นสีขาว

พวกที่ปรุงแต่งสติปัญญาเบื้องต้นเบื้องกลางมาก อวิชชาจะสว่าง

ไม่ว่าพลังอวิชชาจะมีสภาพอย่างไร เมื่อพบแล้ว ก็ดับให้สิ้น อวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่ควรเก็บไว้เลยแม้แต่น้อย


การดับโมหะและอวิชชาในจิต

การดับโมหะและอวิชชาต้องใช้กำลังสี่กำลัง คือ กำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังปัญญาระดับญาณ กำลังอธิโมกข์ (ความเด็ดขาด) เมื่อเห็นโมหะก็ตาม อวิชชาก็ตาม กำหนดสติรู้ชัดลึกในสิ่งนั้น สมาธิจิตตั้งมั่นแน่วแน่ ปัญญาญาณแจ่มแจ้งว่าสิ่งนี้ไม่เป็นตน เป็นสมุทัยแห่งทุกข์ แล้วอธิโมกข์ ตัดสินใจเด็ดขาด ปล่อยวาง สลัดคืน จนโมหะและอวิชชาดับสลายไป


ดับตัวไหนก่อนดี

ดับตัวที่เห็นชัดที่สุดก่อน

หากดับโมหะก่อน จิตจะสงบเบาบาง เห็นอวิชชาง่ายขึ้น แต่ตราบที่อวิชชายังอยู่ก็สามารถผลิตโมหะใหม่ให้งอกได้อีก ก็ตั้งใจดับอวิชชาต่อไป

เมื่อดับอวิชชาได้ ทั้งโมหะ โลภะ โทสะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน สังโยชน์ อาสวะทั้งปวงก็สลายหายวับไป เกิดมิติใหม่แห่งรู้อิสระ หลุดออกมาจากขันธ์และโลกทั้งปวง อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

รู้ใหม่นี้บริสุทธิ์ เบิกบาน สุขอย่างยิ่ง ในว่างอย่างยิ่ง เรียกว่า "พุทธะ"

   

 

 

ที่มา
6 May 2023