Main navigation

สิ่งที่ลึกกว่าใจ

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ วันนี้ผมนั่งทบทวนคำสอนในคอร์ส ที่ท่านอาจารย์บอกว่าให้ทะลุใจไปอีก ผมลองกำหนดรู้เข้าไปในใจ มันเวิ้งว้างหาที่สุดไม่ได้ จึงนึกถึงคำโบราณที่ว่า 'ใจมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง' ใจไร้ประมาณอย่างนี้ ยังมีอะไรลึกกว่าใจอีกหรือครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อายตนะมีใจเป็นที่หน่วงนึก ใจมีสติเป็นที่หน่วงนึก สติมีวิมุตติเป็นที่หยั่งลง"

นั่นหมายความว่า ลึกกว่าการรับรู้ทางระบบประสาท คือ ใจ การรับรู้ผัสสะทางกายและสมองทั้งหมดล้วนส่งไปที่ใจ ใจจึงเป็นโกดังเก็บความทรงจำ ความรู้สึก อารมณ์ ความอยาก ความไม่อยาก กิเลส ความโง่ ความรู้ คุณธรรม ปัญญา อวิชชา กรรม มากมาย สิ่งเหล่านี้ทำงานร่วมกันจนกลายเป็นการเมืองใหญ่ในดวงใจ บางครั้งคุณธรรมก็เป็นใหญ่ บางครั้งกิเลสก็เป็นใหญ่ บางครั้งอวิชชาก็เป็นใหญ่ บางครั้งปัญญาก็เป็นใหญ่ บางครั้งบาปก็เป็นใหญ่ บางครั้งบุญก็เป็นใหญ่ การเมืองแห่งดวงใจนี้ขับเคลื่อนชีวิตไปในวัฏฏะอันยาวนานอย่างน่าสงสาร สะสมพลังไว้มากมาย จนกลายเป็นประธานแห่งชีวิต แต่ใจดวงนี้วุ่นวายไม่รู้จบ และอนิจจังตลอดเวลา ที่ชีวิตเหนื่อยยากทุกวันนี้เพราะวิ่งตามใจ ปล่อยตามใจ เราจึงต้องหาอาจารย์แห่งใจ เพื่อมาอบรมใจ เป็นพี่เลี้ยงคอยกำกับใจที่ชอบเอาแต่ใจนี้อีกชั้นหนึ่ง

อาจารย์ที่รู้ชัด รู้แม่น ลึกซึ้งกว่าใจ คือ "สติ" สติคือรู้ตั้งมั่นตรงตามความจริง ลึกกว่าใจ มีหน้าที่กั้นกระแสใจไม่ให้ไหลตามอารมณ์ กิเลส และบาป ดังนั้น ผู้ที่บริหารท่านประธานใจได้คือ "ท่านอาจารย์สติ" นี่เอง เราจึงต้องทะลุใจไปหา ไปอยู่ ไปร่วมงานกับท่านอาจารย์สติ  

แล้ว "เรา" นี้คืออะไร เรา คือ "จิตสำนึก consciousness" อันเป็นผลรวมรวบยอดวิวัฒนาการอันยาวนาน

ควรรู้และจำไว้ให้มั่น สติอยู่ลึกกว่าใจ ฝึกสติต้องฝึกให้ลึกทะลุใจจึงจะพบสติตัวจริง แต่สตินี้อัศจรรย์ นอกจากรู้ตัวเองอย่างดีแล้ว ยังสามารถรู้สิ่งภายนอกได้ตลอดเวลาที่กำหนด เช่น รู้อารมณ์ รู้กาย รู้อายตนะ รู้ผัสสะ รู้การปรุงแต่ง รู้เจตนา รู้การเคลื่อนไหว เป็น เมื่อสติรู้สติเองด้วย รู้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตด้วยนี้ เรียกว่า "สติสัมปชัญญะ" เมื่อใดสติอ่อนแอ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน บาป ก็เริงระบำกันวุ่นวายไปหมด เรียกว่า "เสียสติ" เราจึงต้องทะลุใจไปหา ไปปลุก ไปอาราธนาท่านอาจารย์ให้ทำหน้าที่ กำกับใจ กำกับกาย กำกับความคิด กำกับคำพูด กำกับการกระทำ ให้สงบสุข สร้างสิ่งมีคุณยิ่ง ละสิ่งมีโทษจริง

ครั้นเราขอให้ท่านอาจารย์สติทำงานแล้ว ท่านก็ทำได้ดี แต่บางทีท่านก็ปล่อยวางอีก ท่านปล่อยวางทีชีวิตก็วุ่นอีก เพราะอะไรท่านจึงปล่อยปละละเลยอยู่บ่อย ๆ เพราะสติคือ "รู้" ท่านนิยมรู้ ท่านไม่นิยมความวุ่นวาย ท่านจึงมีธรรมชาตินิยมหยั่งลงสู่วิมุตติอันหมดจด เพราะในวิมุตติ สติจะบริสุทธิ์ผ่องใสที่สุด

เรา "จิตสำนึก" ก็ต้องสำรวจวิมุตติกับท่านอาจารย์สติ ก็จะพบความจริงว่า "วิมุตติ" คือความบริสุทธิ์บริบูรณ์ บรมสุข บรมว่างที่สุด เมื่อพบเช่นนั้นแล้ว ก็จะยินดีสละนาม (ใจ) รูป (กาย) ที่อนิจจังไม่รู้จบ หยั่งสู่วิมุตติ ถึงวิมุตติสุดแล้ว ก็ถึงสภาวะอมตะ จบกิจวิวัฒนาการ


สรุปรวบยอด

ดังนั้น ลึกกว่าใจ คือ สติ

ลึกกว่าสติ คือ วิมุตติ

เวลาสติกำหนดรู้ปรากฏการณ์ภายนอก เรียกว่า "สติสัมปชัญญะ"

เวลาสติตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส เรียกว่า "สมาธิ"

เวลาสติกำหนดรู้สัจจะแห่งสรรพสิ่ง เรียกว่า "สติปัญญา"

เวลาสติหยั่งลงสู่วิมุตติ เรียกว่า "หลุดพ้น"

เวลาสติและจิตสำนึกน้อมสู่วิมุตติถาวร เรียกว่า "นิพพาน"

สติจะบริสุทธิ์ในสมาธิ (ฌาน ๔ - ๗) สติจะบริบูรณ์ในวิมุตติ

เมื่ออยู่ในนิพพานธาตุตลอด จะได้สภาวะบริสุทธิ์บริบูรณ์เสมอ เรียกว่า "อรหัตตผลสมาบัติ" มีรส "สุขอย่างยิ่ง ว่างอย่างยิ่ง" เป็นสภาวะ ณ ที่สุดแห่งวิวัฒนาการ

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

ใจ สติ วิมุตติ