Main navigation

ควรตั้งจิตอย่างไร เมื่อสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก

Q ถาม :

เรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่จากไป เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม ขอท่านอาจารย์เมตตาให้แนวทางด้วยค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้ ดูโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติต่อพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระศาสดาโลก

ในมหาปรินิพพานสูตร (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๘/๑๕๒/๑๒๗) เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราทรงถือเอาของหอมมาลัยและเครื่องดนตรีทั้งปวงกับผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยังป่าสาลวัน ครั้นเสด็จเข้าไปถึงพระสรีระพระผู้มีพระภาคแล้ว สักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระสรีระพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมมาลัยและของหอม ดาดเพดานผ้าตกแต่งมณฑล ๗ วัน
 
การปฏิบัติที่ถูกต้องคือ

๑.  สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ด้วยจิตผ่องใส มีการฟ้อนรำขับร้อง ประดับมาลัยของหอม และผ้างามเป็นต้น

จิตเศร้าโศกเป็นโมหจิต ไม่ควรแก่การบูชา บุคคลควรบูชากันและกันด้วยจิตที่ดีที่สุด ไม่ใช่ด้วยจิตที่แย่ที่สุด หากผู้ตายยังไม่ถึงอรหันต์ ยิ่งญาติอาลัย ก็ยิ่งทำให้วิญญาณอาดูร เมื่ออาดูร ก็ไปสูงไม่ได้ อยู่แค่ชั้นต้น ๆ

๒.  เหล่าภิกษุและนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ตามรอยพระพุทธบาทด้วยการเจริญวิปัสสนาญาณ เห็นสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง ไม่เป็นตน เจริญวิราคะปล่อยวางสังขารตน ชำระจิตให้หมดจด พระสุภัททะบรรลุอรหันต์ระหว่างพิธี

๓. เทวดาก็สักการะแซ่ซ้องสรรเสริญพระพุทธคุณจากใจจริง มิประดิษฐ์ปรุงแต่งให้น้อยกว่าหรือเกินกว่าความจริงจากใจ

ควรรวบรวมความดีงามของผู้เป็นที่รักไว้อย่างเป็นระบบ ให้เจริญจาคานุสติเนืองๆ ทั้งตอนเป็น กำลังจะตาย และตายใหม่ ๆ ความดีที่ทำแล้วอยู่ในระบบกรรมสากล เบิกได้ด้วยการตั้งจิต ระลึก และอธิษฐาน

หากเป็นพระอรหันต์ กรรมทั้งหมดสิ้นสูญทันทีที่ปรินิพพานแต่อานุภาพยังคงอยู่ตลอดกาล อนุชนสามารถทำดีต่อท่านที่เข้านิพพานแล้วได้ (พุทธานุสติ สังฆานุสติ เจตียปูชา) ซึ่งจะได้อานิสงส์ตามศรัทธา โดยไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา (พุทธพจน์)

๔. พราหมณ์ผู้ใหญ่และเหล่ากษัตริย์ก็จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างสถูปบูชาในไตรภพต่อไป ควรตั้งสติ จัดการสิ่งที่ควรจัดการอย่างชอบธรรม ไม่จมอยู่ในอารมณ์ เพราะจะทำให้ทำอะไรไม่ถูก

๕. เหล่าพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ก็ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งแก่โลกโดยรวบรวมพระธรรมวินัยทั้งหมดเป็นหมวดหมู่ เป็นมรดกธรรมไตรปิฎกสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ควรรักษาคุณค่าและผลงานของท่านที่สร้างคุณแก่โลกไว้ก่อนจากไป เพราะนั่นคือมรดกที่ท่านนั้นมอบไว้แก่โลกเพื่อประโยชน์สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปของอนุชน

๖. การไว้ทุกข์ เก็บทุกข์ โชว์ทุกข์ ไม่มีอยู่ในสารบบพุทธธรรม ระบบพุทธธรรมมีแต่การพ้นทุกข์ทั้งหลาย ดับสมุทัยทั้งปวง

เมื่อบุคคลปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงบรรลุธรรมได้ (พุทธพจน์) หากปฏิบัติธรรมขัดแย้งกับธรรม จักหลงทิศผิดทาง

๗. หากผู้ตายยังไม่ถึงพระนิพพาน แผ่จิตบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มรัศมีธรรมให้ไปสูง ๆ และอุทิศบุญให้เพื่อความเป็นอยู่สบาย

ความปรารถนาดี นำจิตไปสูงสุดที่เป็นไปได้ เป็นพฤติกรรมแห่งความรักแท้ และความกรุณาที่มีคุณูปการจริง เหนือการบูชาทั้งหมดให้ผลยาวนานยิ่ง

๘. เตรียมจิตให้พร้อมสำหรับตน ยอมรับความจริงว่า วันหนึ่งอีกไม่นาน เราก็ต้องตายแน่นอน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ไม่ประมาทย่อมพิจารณาความตายว่าอาจเกิดขึ้นได้ทุกลมหายใจ ดังนั้น

         บาปใดที่ควรละ ก็ละให้ขาดเดี๋ยวนี้ ไม่รีรอ
         ความดีใดที่ควรทำ ก็รีบทำเสียตั้งแต่บัดนี้
         สภาวะจิตบริสุทธิ์ใดที่ควรเข้าถึง ก็เริ่มปฏิบัติจริงจังอย่างต่อเนื่องไม่ย่อหย่อน

เมื่อปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ จิตย่อมสงบสุขในความไม่ประมาท ทั้งบูชาผู้จากไปอย่างถูกต้อง รักษาคุณค่าถูกสาระ เป็นประโยชน์ต่อตนและต่อโลกสืบไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ตายทั้งหลายต้องการ จึงเป็นการสนองคุณอย่างถูกต้องด้วย

ควร apply ใช้ทุกครั้ง เมื่อสูญเสียผู้เป็นที่รัก ซึ่งทุกคนจะต้องเจอหลายครั้งในชีวิตหนึ่ง ทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากการตั้งจิตถูกต้อง

ใครทำได้ สอบผ่าน เลื่อนชั้นได้
ใครทำไม่ได้ สอบตก ต้องซ้ำชาติ