Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีละเวทนาโดยลำดับ | สฬายตนวิภังคสูตร

พุทธวิธีละเวทนาโดยลำดับ
สฬายตนวิภังคสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๖๑๗-๖๓๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดิทัศน์ 30:13 นาที
เวลาปฏิบัติ 45 นาที

-------

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พวกเธอพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ความนึกหน่วงของใจ ๑๘ ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖

ใน ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้

และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพ ชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ อันเราเรียกว่าสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย

อายตนะภายใน ๖ คือ จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย และมโน

อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

หมวดวิญญาณ ๖ คือ
จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ

หมวดผัสสะ ๖ คือ
จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัส

ความนึกหน่วงของใจ ๑๘ คือ
ความนึกหน่วงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา

ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ คือ
โสมนัสอาศัยเรือน ๖ อาศัยเนกขัมมะ ๖
โทมนัสอาศัยเรือน ๖ อาศัยเนกขัมมะ ๖
อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อาศัยเนกขัมมะ ๖

โสมนัสอาศัยเรือน
โสมนัสที่เกิดขึ้นเมื่อได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันน่าปรารถนา ประกอบด้วยโลกามิส หรือหวนระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  ที่ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ที่เคยได้

โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ
บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในก่อนและในบัดนี้ทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ

โทมนัสอาศัยเรือน
โทมนัสที่เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันน่าปรารถนา ประกอบด้วยโลกามิส หรือหวนระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ที่ไม่เคยได้

โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ
บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหลาย แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ ว่า เมื่อไรตัวเราจึงจักบรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้ ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัสเช่นนี้เรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ

อุเบกขาอาศัยเรือน
เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยโสต ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชน ยังไม่ชนะกิเลส ไม่ได้สดับ อุเบกขาเช่นนี้ไม่ล่วงเลยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอุเบกขาอาศัยเรือน

อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ
บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลาย และความดับของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหลาย แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้น อุเบกขาเช่นนี้ล่วงเลยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น
จงอิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖
แล้วละโสมนัสอาศัยเรือน ๖  

จงอิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖
แล้วละโทมนัสอาศัยเรือน ๖

จงอิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖
แล้วละอุเบกขาอาศัยเรือน  ๖

จงอิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖
แล้วละโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

จงอิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖
แล้วละโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

อุเบกขาที่มีความเป็นต่าง ๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ ก็มี อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งก็มี คือ

อุเบกขาที่มีความเป็นต่างๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ คือ อุเบกขาที่มีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

อุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ อุเบกขาที่อาศัยอากาสานัญจายตนะ อาศัยวิญญาณัญจายตนะ อาศัยอากิญจัญญายตนะ อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ในอุเบกขา ๒ อย่าง
จงอิงอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น
แล้วละอุเบกขาที่มีความเป็นต่าง ๆ อาศัยอารมณ์ต่างๆ

พวกเธอจงอิงความเป็นผู้ไม่มีตัณหา
แล้วละอุเบกขาที่มีความเป็นหนึ่ง อาศัยอารมณ์เป็นหนึ่ง

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ในทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยการละ การล่วง ดังนี้ กล่าวแล้ว

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ

เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม และไม่ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เราเรียกว่าการ
ตั้งสติประการที่ ๑ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอน
หมู่

เหล่าสาวกของศาสดานั้นบางพวกย่อมไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา บางพวกย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตไม่เป็นผู้ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม ทั้งไม่เป็นผู้ไม่ชื่นชม ไม่เสวยความไม่ชื่นชม เว้นทั้งความชื่นชมและความไม่ชื่นชมทั้งสองอย่างนั้นแล้ว เป็นผู้วางเฉย ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เราเรียกว่าการตั้งสติประการที่ ๒ ที่พระอริยะเสพ
ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในข้อนั้น ตถาคตเป็นผู้ชื่นชม เสวยความชื่นชม และไม่
ระคายเคือง ย่อมมีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เราเรียกว่าการตั้งสติประการที่ ๓ ที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อ
เสพชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ นั่น เราอาศัยเหตุนี้ กล่าวแล้ว

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ศาสดานั้นเราเรียกว่า สารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก โคที่ควรฝึก อันอาจารย์ฝึกให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเท่านั้น คือ ทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้

แต่บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทั่วทั้ง ๘ ทิศ คือ

ผู้ที่มีรูป ย่อมเห็นรูปทั้งหลายได้นี้ทิศที่ ๑

ผู้ที่มีสัญญาในอรูปภายใน ย่อมเห็นรูปทั้งหลายภายนอกได้ นี้ทิศที่ ๒

ย่อมเป็นผู้น้อมใจว่างามทั้งนั้น นี้ทิศที่ ๓

ย่อมเข้าอากาสานัญจายตนะอยู่ด้วยใส่ใจว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๔

ย่อมเข้าวิญญาณัญจายตนะอยู่ด้วยใส่ใจว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงนี้ทิศที่ ๕

ย่อมเข้าอากิญจัญญายตนะอยู่ด้วยใส่ใจว่า ไม่มีสักน้อยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๖

ย่อมเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๗

ย่อมเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้ทิศที่ ๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธสอนให้วิ่ง
ย่อมวิ่งไปได้ทั่วทั้ง ๘ ทิศดังนี้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ศาสดานั้นเราเรียกว่าสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นั่นเราอาศัยเหตุดังนี้ กล่าวแล้ว

 

 

พระสูตร
สฬายตนวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๖๑๗-๖๓๗