Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

ปีติและสุขที่มีอามิส ไม่มีอามิส | นิรามิสสูตร

ปีติและสุข
ที่มีอามิส ไม่มีอามิส
นิรามิสสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๔๖-๔๕๗

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ 10:09 นาที
เวลาปฏิบัติ 15 นาที

--------

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ปีติมีอามิสมีอยู่
ปีติไม่มีอามิสมีอยู่
ปีติที่ไม่มีอามิสกว่าปีติที่ไม่มีอามิสมีอยู่

สุขมีอามิสมีอยู่
สุขไม่มีอามิสมีอยู่
สุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิสมีอยู่

อุเบกขามีอามิสมีอยู่
อุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่
อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่

วิโมกข์มีอามิสมีอยู่
วิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่
วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่


ก็ปีติมีอามิสเป็นไฉน

กามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ

รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต
กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก
รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย
อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้แล

ปีติเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า ปีติมีอามิส

ก็ปีติไม่มีอามิสเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ   และสุขเกิแต่วิเวกอยู่

เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิส

ก็ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิสเป็นไฉน 

ปีติที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะจากโมหะ

นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส ฯ

ก็สุขมีอามิสเป็นไฉน

สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า สุขมีอามิส

ก็สุขไม่มีอามิสเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้  สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

เธอมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข

นี้เราเรียกว่า สุขไม่มีอามิส

ก็สุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิสเป็นไฉน  

สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ

นี้เราเรียกว่าสุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิส

ก็อุเบกขามีอามิสเป็นไฉน

อุเบกขาเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า อุเบกขามีอามิส

ก็อุเบกขาไม่มีอามิสเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

นี้เราเรียกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส

ก็อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิสเป็นไฉน

อุเบกขาเกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ

นี้เราเรียกว่า อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส

ก็วิโมกข์มีอามิสเป็นไฉน

วิโมกข์ที่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่าวิโมกข์มีอามิส

ก็วิโมกข์ไม่มีอามิสเป็นไฉน

วิโมกข์ที่ไม่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส

ก็วิโมกข์ไม่มีอามิสที่ยิ่งกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสเป็นไฉน

วิโมกข์เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะจากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส

 

 

พระสูตร
นิรามิสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๔๖-๔๕๗