Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

อารมณ์ที่ควรเที่ยวไป (เรื่องเหยี่ยวและนกมูลไถ) | สกุณัคฆีสูตร

อารมณ์ที่ควรเที่ยวไป
(เรื่องเหยี่ยวและนกมูลไถ)
สกุณัคฆีสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๖๙๘-๗๐๐

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว ฟังพุทโธวาท
และน้อมธรรมมาสู่ใจ น้อมใจปฏิบัติ
ตามพุทโธวาทตรง ๆ ให้เข้าใจแจ้ง
และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 7:55 นาที
เวลาปฏิบัติ: 15 นาที

--------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถ โดยรวดเร็ว นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้รำพันว่า เราเป็นคนอับโชค มีบุญน้อย ที่เที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ถ้าวันนี้เราไปเที่ยวในถิ่นของบิดาตน ซึ่งควรเที่ยวไป เหยี่ยวตัวนี้เราอาจต่อสู้ได้

หยี่ยวจึงถามว่าก็ถิ่นซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นที่หากินของเจ้าเป็นเช่นไร

นกมูลไถตอบว่า คือ ที่ ๆ มีก้อนดินที่เขาทำการไถไว้

เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างกำลังของตน ปล่อยนกมูลไถไป พร้อมด้วยบอกว่า เจ้าจงไปเถิด เจ้าจะไปแม้ในที่นั้นก็ไม่พ้นเราได้

นกมูลไถจึงไปยังที่ ๆ มีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้ ขึ้นสู่ก้อนดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวอยู่ว่า แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่านจงมาจับเราเถิด

เหยี่ยวจึงห่อปีกทั้ง ๒ โฉบนกมูลไถโดยรวดเร็ว นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้โฉบลงมาเร็วจะจับเรา ก็หลบเข้าซอกดินนั้นเอง เหยี่ยวยังอกให้กระแทกดินตายในที่นั้นเอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ย่อมเป็นเช่นนี้แล

เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์

ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร

คือ กามคุณ ๕ คือ

รูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ
เสียงที่พึงรู้ด้วยหู
กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก
รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น
โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย

นี้คืออารมณ์อื่น มิใช่โคจรของภิกษุ

เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์

ก็อารมณ์อันเป็นของบิดา อันเป็นโคจร คืออะไร

คือ สติปัฏฐาน ๔

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม

มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ

 

 

พระสูตร
สกุณัคฆีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๖๙๘-๗๐๐