Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีเจริญอานาปานสติสมาธิ | อานาปานสติสมาธิกถา

พุทธวิธีปฏิบัติธรรม
อานาปานสติสมาธิกถา
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑ ข้อ ๑๗๘

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 9:10​ นาที
เวลาปฏิบัติ: 20 นาที

----------

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณอสุภสมาบัติเนือง ๆ โดยอเนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน

ภิกษุเหล่านั้นพากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายกระบวนอยู่ ภิกษุเหล่านั้นอึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์ให้ปลงชีวิตตนบ้าง

...ครั้นล่วงกึ่งเดือนนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับเร้นแล้ว รับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า เหตุไฉน ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป

พระอานนท์กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดแก่พระผู้มีพระภาค แล้วทูลขอประทานพระวโรกาสว่า ภิกษุสงฆ์นี้จะพึงดำรงอยู่ในพระอรหัตตผลด้วยปริยายใด ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายอื่นนั้นเถิด

...พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่อุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แล อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน

ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้ง ขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้น ๆ ให้อันตรธาน
สงบไปได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น

ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณ สงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ บ่ายหน้าสู่กรรมฐาน

ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว
หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกว่าหายใจออกยาว

เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจเข้าสั้น
หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจออกสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิงหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่าเราจักปล่อยจิตหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ
(ความสลัดคืน) หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ
 (ความสลัดคืน) หายใจออก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณ สงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน

พระสูตร
อานาปานสติสมาธิกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อ ๑๗๘