Main navigation

วิธีภาวนา - (ดูทั้งหมด)

พุทธวิธีระงับการวิวาท

พุทธวิธีระงับการวิวาท
(สัมมาวาจา - สัมมากัมมันตะ)
อุปักกิเลสสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๔๔๓

ข้อแนะนำในการปฏิบัติ
ก่อนจะฟัง
พึงเข้าสมาธิสักครู่หนึ่ง
เมื่อได้สมาธิดีแล้ว
ฟังพุทโธวาท และน้อมธรรมมาสู่ใจ
น้อมใจปฏิบัติตามพุทโธวาทตรง ๆ
ให้เข้าใจแจ้ง และได้สภาวะจิตดีจริง
เมื่อได้สภาวะดีใด ให้รักษาสภาวะนั้นออกมาสู่ชีวิตจริง

ความยาววีดีโอ: 5:14 นาที
เวลาปฏิบัติ: 10 นาที

__________

สมัยหนึ่ง พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้น ถึง ๓ ครั้ง ว่า อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง ทูลให้พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ขวนขวายน้อย อยู่ในสุขวิหารธรรมต่อไป พวกตนยังต้องการยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะวิวาทกัน

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสพระคาถาว่า

ก็ชนเหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ

ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้

เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลยในกาลไหน ๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่

ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชมมีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ พึงเป็นอยู่ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ และเหมือนช้างมาตังคะในป่า

การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยในป่า

 

พระสูตร
อุปักกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๔๔๓