Main navigation
เทวดา
Share:

(๑) เทวดา ๓ จำพวก

คำว่า เทวดา ได้แก่เทวดา ๓ จำพวก คือ สมมติเทวดา อุปปัตติเทวดา วิสุทธิเทวดา

พระราชา พระเทวี พระราชกุมาร เรียกว่า สมมติเทวดา

เหล่าเทวดาชั้นบน นับแต่เหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชขึ้นไป เรียกว่าอุปปัตติเทวดา

พระอรหันต์ทั้งหลาย เรียกว่า วิสุทธิเทวดา


ผู้ได้เกิดเป็นเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์

คนทั้งหลายให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรมแล้ว เกิดที่ไหน

คนทั้งหลายให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรมแล้ว

บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งกษัตริย์
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งพราหมณ์
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งคหบดี
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งเหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราช
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งเหล่าเทวดาชั้นยามา
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งเหล่าเทวดาชั้นดุสิต
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งเหล่าเทวดาชั้นนิมมานรดี
บางคนเข้าถึงความเป็นพวกแห่งเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี


เทวดาเหล่ามนาปยิกา

(๒) เทวดาชื่อมนาปกายิกามีอิสระและอำนาจในฐานะ ๓ ประการ คือ

หวังวรรณะเช่นใด ก็ได้วรรณะเช่นนั้นโดยพลัน ๑ (ร่าง ผิวพรรณ เสื้อผ้า เครื่องประดับ)
หวังเสียง เช่นใด ก็ได้เสียงเช่นนั้นโดยพลัน ๑
หวังความสุขเช่นใด ก็ได้ความสุขเช่นนั้นโดยพลัน ๑

เทวดาชื่อว่ามนาปกายิกา มีอิสระและอำนาจใน ๓ ประการนี้

มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ธรรม คือ

มาตุคามในโลกนี้ ตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังรับใช้ ประพฤติให้ถูกใจ กล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก ๑

ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ เธอสักการะเคารพนับถือบูชาชนเหล่านั้น และต้อนรับท่านเหล่านั้นผู้มาถึงแล้วด้วยอาสนะและน้ำ ๑

เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานในบ้านของสามี ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำ ๑

ชนเหล่าใดเป็นคนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ย่อมรู้การงานที่เขาเหล่านั้นทำแล้วและยังไม่ได้ทำ ๑

ย่อมรู้อาการของคนภายในผู้เป็นไข้ว่า ดีขึ้นหรือทรุดลง ย่อมแบ่งปันของกินของบริโภคให้แก่เขาตามควร ๑

สิ่งใดที่สามีหามาได้ จะเป็นทรัพย์ ข้าว เงินหรือทอง ย่อมรักษาคุ้มครองสิ่งนั้นไว้ และไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ๑

เป็นอุบาสิกาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นผู้มีศีล งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และการดื่มน้ำเมา ๑

เป็นผู้มีการบริจาค มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ๑

มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา


(๓) เทวดาชั้นดาวดึงส์

มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปประเสริฐกว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ ๓ ประการ คือ ไม่มีทุกข์ ๑ ไม่มีความหวงแหน ๑ มีอายุแน่นอน ๑

เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ ๓ ประการ คือ อายุทิพย์ ๑ วรรณะทิพย์ ๑ สุขทิพย์ ๑

มนุษย์ชาวชมพูทวีปประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้กล้า ๑ เป็นผู้มีสติ ๑ เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ๑


(๔, ๑) ประมาณอายุของเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
๕๐ ปีซึ่งเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น ๑ เดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี โดยปีนั้น ๕๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา

นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณ ๙ ล้านปี

เทวดาชั้นดาวดึงส์
๑๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นดาวดึงส์ โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น ๑ เดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี โดยปีนั้น ๑,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์

นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณ ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี

เทวดาชั้นยามา
๒๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นยามา โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น ๑ เดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี โดยปีนั้น ๒,๐๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นมายา

นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณ ๑๔ โกฏิ ๔ ล้านปี

เทวดาชั้นดุสิต
๔๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นดุสิต โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น ๑ เดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี โดยปีนั้น ๔,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดุสิต

นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี

เทวดาชั้นนิมมานรดี
๘๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของเทวดาชั้นนิมมานรดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น ๑ เดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี โดยปีนั้น ๘,๐๐๐ ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณของอายุของเทวดาชั้นนิมมานรดี

นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณ ๒๓๐ โกฏิ ๔ ล้านปี

เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
๑,๖๐๐ ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี โดยราตรีนั้น ๓๐ ราตรีเป็น ๑ เดือน โดยเดือนนั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปี โดยปีนั้น ๑๖,๐๐๐ ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี

นับอย่างปีมนุษย์ มีประมาณ ๙๒๑ โกฏิ ๖ ล้านปี

พวกเทวดากามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณทั้งปวง

อายุของพวกเทวดากามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น นับรวมกันทั้งหมดเป็น ๑๒๒๘ โกฏิ ๕ ล้านปี โดยนับอย่างปีมนุษย์


(๔, ๑, ๕) ผู้ได้เกิดในเทวดาชั้นพรหมและประมาณอายุ

ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นพรหมปาริสัชชา

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณเท่าส่วนที่ ๓ ที่ ๔ แห่งกัปป์ (คือ ๑ ใน ๓ หรือ ๑ ใน ๔ แห่งกัปป์)

ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างกลาง ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นพรหมปุโรหิตา

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณกึ่งกัปป์

ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างประณีต ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นมหาพรหมา

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณ ๑ กัปป์

กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง

ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกานั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ เมื่อคติอุบัติมีอยู่

ผู้เจริญทุติยฌานได้อย่างสามัญไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นปริตตาภา

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณ ๒ กัปป์

ผู้เจริญทุติยฌานได้อย่างกลาง ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอัปปมาณาภา

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณ ๔ กัปป์

ผู้เจริญทุติยฌานได้อย่างประณีต ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอาภัสสระ

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณ ๘ กัปป์

๒ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าอาภัสสระ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง

ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ เมื่อคติอุบัติมีอยู่

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นปริตตสุภา

อายุของเทวดาเหล่านั้นมีประมาณ ๑๖ กัปป์

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างกลาง ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอัปปมาณสุภา

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณ ๓๒ กัปป์

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างประณีต ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นสุภกิณหะ

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณ ๖๔ กัปป์

๔ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง

ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ เมื่อคติอุบัติมีอยู่

ผู้เจริญจตุตถฌาน

บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาเหล่าอสัญญสัตว์
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นเวหัปผลา
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอวิหา
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอตัปปา
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นสุทัสสา
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นสุทัสสี
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอกนิฏฐะ
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ
บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ

เพราะอารมณ์ต่างกัน เพราะมนสิการต่างกัน เพราะฉันทะต่างกัน เพราะปณิธิต่างกัน เพราะอธิโมกข์ต่างกัน เพราะอภินิหารต่างกัน เพราะปัญญาต่างกัน

อายุของเหล่าเทวดาอสัญญสัตว์และเหล่าเทวดาชั้นเวหัปผลามีประมาณ ๕๐๐ กัปป์

๕๐๐ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าเวหัปผละ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง

ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาค ดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุของเทวดาเหล่านั้นให้สิ้นไปแล้ว ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

นี้เป็นความพิเศษผิดแผกแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ คือ เมื่อคติอุบัติมีอยู่

อายุของเหล่าเทวดาชั้นอวิหา มีประมาณ ๑,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาชั้นอตัปปา มีประมาณ ๒,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาชั้นสุทัสสา มีประมาณ ๔,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาชั้นสุทัสสี มีประมาณ ๘,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาชั้นอกนิฏฐะ มีประมาณ ๑๖,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ มีประมาณ ๒๐,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ มีประมาณ ๔๐,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ มีประมาณ ๖๐,๐๐๐ กัปป์

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ กัปป์


(๖)  รัศมีของเทวดา

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างเล็กน้อยอยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีเล็กน้อย

แต่บางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างหาประมาณมิได้อยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้

บางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างเศร้าหมองอยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีเศร้าหมองแต่บางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์ มีแสงสว่างบริสุทธิ์อยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา พวกมีรัศมีบริสุทธิ์

สมัยที่พวกเทวดาประชุมร่วมกัน เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกายต่างกัน แต่ไม่ปรากฏมีรัศมีต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษตามประทีปน้ำมันมากดวง เข้าไปสู่เรือนหลังหนึ่ง ประทีปน้ำมันเหล่านั้นปรากฏมีเปลวต่างกัน แต่ไม่ปรากฏมีแสงสว่างต่างกัน

สมัยที่พวกเทวดาแยกกันจากที่ประชุม เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกายต่างกันและมีรัศมีต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษนำประทีปน้ำมันมากดวงออกจากเรือนหลังนั้น ประทีปน้ำมันเหล่านั้นปรากฏมีเปลวต่างกันและมีแสงสว่างต่างกัน

เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่มีความดำริอย่างนี้เลยว่า สิ่งนี้ของพวกเราเที่ยง หรือยั่งยืน หรือแน่นอน แต่ว่าเทวดาเหล่านั้นย่อม อภิรมย์เฉพาะแดนที่ตนอยู่อาศัยนั้นๆ

อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกัน บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้

ภิกษุบางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่ง ว่าเป็นแดนมหัคคตะ
ภิกษุบางรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่ง ว่าเป็นแดนมหัคคตะ
ภิกษุบางรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่ง ว่าเป็นแดนมหัคคตะ
ภิกษุบางรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่ง ว่าเป็นแดนมหัคคตะ
ภิกษุบางรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่ง ว่าเป็นแดนมหัคคตะ
ภิกษุบางรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตมหาอาณาจักรสองหรือสามอาณาจักร ว่าเป็นแดนมหัคคตะ
ภิกษุบางรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่ตลอดปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขต ว่าเป็นแดนมหัคคตะ

จิตตภาวนาของภิกษุที่น้อมใจเท่าที่แผ่ไปเป็นมหัคคตะนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกัน บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมี รัศมีหาประมาณมิได้

อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกัน บางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่บางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างเศร้าหมองอยู่ เธอไม่ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี ไม่ถอนถีนมิทธะให้ดี ทั้งไม่กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เธอย่อมรุ่งเรืองอย่างริบหรี่ ๆ เพราะมิได้ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี มิได้ถอนถีนมิทธะให้ดี ทั้งไม่กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีเศร้าหมอง เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันติดไฟอยู่ มีทั้งน้ำมัน ทั้งไส้ไม่บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นย่อมติดไฟอย่างริบหรี่ ๆ เพราะทั้งน้ำมัน ทั้งไส้ไม่บริสุทธิ์

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างบริสุทธิ์อยู่ เธอระงับความชั่วหยาบทางกายได้ดี ถอนถีนมิทธะได้ดี ทั้งกำจัดอุทธัจจกุกกุจจะได้ดี เธอย่อมรุ่งเรืองอย่างไม่ริบหรี่ เพราะระงับความชั่วหยาบทางกายได้ดี ถอนถีนมิทธะได้ดี ทั้งกำจัดอุทธัจจกุกกุจจะได้ดี เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันติดไฟอยู่ มีทั้งน้ำมัน ทั้งไส้บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นย่อมติดไฟอย่างไม่ริบหรี่ เพราะทั้งน้ำมันทั้งไส้บริสุทธิ์

นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกัน บางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง บางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์
 

(๗) เสียง (ที่เกิดขึ้นเพราะปีติ) ของเทวดา ๓ อย่างนี้ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย

๓ อย่างเป็นไฉน

ในสมัยใด พระอริยสาวกคิดเพื่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนี้ย่อมคิดเพื่อทำสงครามกับมาร นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๑ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดา

ในสมัยใด พระอริยสาวกประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ ประการ ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนั้นทำสงครามกับมาร  นี้เป็นเสียงของเทวดา ข้อที่ ๒ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดา

ในสมัยใด พระอริยสาวกกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนี้พิชิตสงคราม ชนะแดนแห่งสงครามนั้นแล้วครอบครองอยู่ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๓ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดา


(๘) เทวดารักษาประเทศ

เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่รักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ปานกลาง ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

การบูชาเทวดา

บัณฑิตสำเร็จการอยู่ในสถานที่ใด พึงเชิญท่านผู้มีศีล สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริโภคในสถานที่นั้น ควรอุทิศทักษิณาทานเพื่อเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น ๆ เทวดาเหล่านั้นอันบัณฑิตนับถือบูชา ย่อมนับถือบูชาบัณฑิตนั้น ย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตรแล้ว ก็ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ


(๙) นิมิตเมื่อเทวดาต้องจุติ

เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ

ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑
ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑
เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑
ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑
เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑

เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า

แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑

ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑

ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑

ความเป็นมนุษย์ เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย

เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้เป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ก็

ศรัทธาของเทวดานั้น เป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลเกิดแล้วประดิษฐานมั่นคง อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้ นี้ เป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย

เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า

แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว จงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด

ท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม

ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น มีมูลเกิดแล้วมั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใคร ๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต  และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มากด้วยทาน แล้วยังสัตว์เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์

(๑๐) อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในเทวโลกของพระผู้มีพระภาค (ญาณทัสนะเวียน ๘ รอบ)

จำโอภาส (แสงสว่างของเทวดา) ได้
เห็นรูป (เทวดา) ทั้งหลาย
ยืนเจรจาปราศรัยกับเทวดาเหล่านั้น
รู้จักเทวดาเหล่านั้นว่าเทวดาเหล่านี้มาจากเทพนิกายชั้นโน้นหรือชั้นโน้น
รู้เทวดาเหล่านั้นว่าด้วยวิบากแห่งกรรมนี้ เทวดาเหล่านี้เคลื่อนจากชั้นนี้แล้วไปเกิดในชั้นนั้น
รู้เทวดาเหล่านั้นว่าเทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้
รู้เทวดาเหล่านั้นว่าเทวดาเหล่านี้มีอายุยืนอย่างนี้ ตั้งอยู่นานอย่างนี้
และรู้เทวดาเหล่านั้นว่าเราเคยอยู่ร่วมหรือไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านั้น

 

 

อ้างอิง:  
(๑) อุปปาทกัมมอายุปมาณวาร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๑๐๔-๑๑๐๗ หน้า ๕๑๕-๕๑๙
(๒) อนุรุทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๓๖ หน้า ๒๐๗-๒๐๘
(๓) ฐานสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๒๕ หน้า ๓๑๙
(๔) อุโปสถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๑๐ หน้า ๒๐๑-๒๐๒
     โพชฌาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๓๕ หน้า ๒๐๕
(๕) เมตตาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๕ หน้า ๑๒๘-๑๒๙
(๖) อนุรุทธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๔๒๔-๔๓๖ หน้า ๒๒๔-๒๒๘
(๗) สัททสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๖๐ หน้า ๒๒๓-๒๒๔
(๘) ปาฏลิคามิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๗๓ หน้า ๑๕๒
(๙) จวมานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๖๑-๒๖๒ หน้า ๒๒๔-๒๒๕
(๑๐) คยาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๖๑ หน้า ๒๓๙-๒๔๑
 
 
 
 
 

คำต่อไป