Main navigation

จะบรรลุธรรมทางลัดแบบพระพาหิยะโดยไม่ต้องปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ได้หรือไม่

Q ถาม :

เรียนถามอาจารย์ครับ ได้อ่านการบรรลุธรรมของพระพาหิยะ ท่านยังเป็นชีเปลือยอยู่ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมวินัยเลย ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็บรรลุธรรมได้ ดังนั้น การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่จำเป็นเสมอไปใช่ไหมครับ เราบรรลุทางลัดแบบพระพาหิยะได้ไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

โอ อันนี้เป็นสัจจะมหภาค ที่ต้องพิจารณาหลายมิติพร้อมกัน

๑. มิติของมนุษย์

มนุษย์ทั้งหลายประกอบไปด้วยธรรมหก คือ อวิชชา ตัณหา กิเลส กรรม คุณธรรม และปัญญา ผ่านภพภูมิมาหลากหลาย และจำนวนมากพัฒนาขึ้นมาจากเดรัจฉาน ด้วยเหตุนี้ เดรัจฉานจึงอยู่ร่วมโลกในมิติเดียวกับมนุษย์

เมื่อองค์ประกอบของมนุษย์เป็นเช่นนี้ หากให้มนุษย์ดำเนินชีวิตโดยอิสระเสรี ไม่มีระบบ ระเบียบ มาตรฐานใด ๆ กำกับ ก็จะดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณแห่งการอยู่รอดเช่นเดียวกับเดรัจฉาน อวิชชา ตัณหา กิเลส ก็จะทำงาน เกิดการเข่นฆ่า เบียดเบียน เอาเปรียบกันเพื่อความอยู่รอดของตน สังคมจะเต็มไปด้วยภัยอันตราย ความหวาดกลัว วุ่นวาย สับสน โกลาหล จิตวิญญาณจะเสื่อมทรุด ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่มากมายในโลก

๒. มิติของโลก

ด้วยเหตุที่ธรรมชาติดิบของมนุษย์เป็นเช่นนั้น มนุษย์ผู้พอมีคุณธรรมและปัญญา ก็หวังดีต่อตนเองและต่อมนุษย์อื่น ๆ จึงสร้างกติกาทางสังคมขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบการดำรงอยู่ร่วมกัน เรียกว่ากฎหมายและวัฒนธรรม ซึ่งก็พอประคับประคองการอยู่ร่วมโลกกันได้บ้าง แต่ไม่บริบูรณ์

เหตุที่กฎหมายและวัฒนธรรมแก้ปัญหาป่าเถื่อนได้บ้างแต่ไม่บริบูรณ์ เพราะมนุษย์ผู้ออกกฎหมายเอง ก็ยังมีอวิชชา ตัณหา กิเลส ปนอยู่กับคุณธรรมและปัญญาอยู่ ทั้งกฎหมายและวัฒนธรรมจึงยังไม่เป็นธรรมแท้จริง มักจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนออกกฎเป็นสำคัญ 

แม้กฎหมายและวัฒนธรรมมนุษย์ดี ๆ ก็พอมีอยู่บ้าง แต่กติกาเหล่านี้ก็ใช้ได้เฉพาะหมู่มนุษย์เท่านั้น ไม่สามารถบังคับใช้กับเดรัจฉาน อสุรกาย เปรต นรก เทวดา พรหมได้ 

๓. มิติของจักรวาล

จักรวาลคือที่อยู่ของจิตวิญญาณหลายภพภูมิ ด้วยเหตุนี้ จักรวาลจึงมีกฎหมายจักรวาลที่ apply for all บังคับใช้กับทุกชีวิตจิตใจในจักรวาลเรียก "กฎแห่งกรรม"

กฎแห่งกรรมเป็นระบบปรับเกลี่ยความเป็นธรรมให้แก่พฤติกรรมของทุกชีวิตจิตใจ ว่าบุคคลทำกรรมเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

หากบุคคลปรารถนาผลที่ดี ย่อมมีกติกาสากลเป็นข้อห้ามสากล เรียกว่า "ศีล"  

ศีลสากลของจักรวาล คือ

1. ไม่ฆ่าชีวิตอื่น

2. ไม่ลักทรัพย์

3. ไม่ประพฤติผิดในกาม   

4. ไม่โกหก

5. ไม่เพ้อเจ้อเหลวไหล

6. ไม่ส่อเสียดยุให้คนเกลียดกัน

7. ไม่หยาบคาย

8. ไม่อยากได้สิทธิของผู้อื่น

9. ไม่พยาบาท

10. ไม่หลงผิด

พระพุทธองค์ทรงแจ่มแจ้งความเป็นจริงเหล่านี้ จึงนำมาประกาศเป็น "ศีลพื้นฐานสำหรับมวลมนุษย์"

๔. มิติของศาสนา

ทวยเทพทั้งหลายหวังดีต่อมวลมนุษย์ ก็มาช่วยประกาศกฎจักรวาลเหล่านี้ให้มนุษย์ปฏิบัติ เมื่อมีคนปฏิบัติตาม ท่านกลายเป็นศาสดา 

ศาสดา + คำสอน + ข้อปฏิบัติ + ผู้ปฏิบัติตาม ก็ก่อให้เกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้นในโลก

จึงเห็นได้ว่า ทุกศาสนากล่าวถึงศีลหมด ที่ครบที่สุดคือศาสนาพุทธ ศาสนาอื่น ๆ จะเน้นศีลสี่ข้อแรก + ข้ออื่น ๆ ต่างกันไปตามความนิยมของศาสดาแต่ละท่าน

เนื่องจากแต่ละศาสนาถือกำเนิดในภูมิบริบทที่แตกต่างกัน แต่ละศาสนาจึงเอาศีลอันเป็นกฎจักรวาลหลักไปขยายรายละเอียดแก่สาวกแต่ละระดับ

ศาสนาพุทธก็ขยายเป็นวินัย ๒๒๗ ข้อสำหรับภิกษุ ศาสนาอื่น ๆ ก็มีข้อบัญญัติเพิ่มเติมตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับแต่ละเผ่าชนที่ศาสนานั้น ๆ เกิดขึ้น และที่ตั้งอยู่

๕. มิติของธรรม

ในศีลสากลของจักรวาล คือ "ความไม่หลงผิด" ไม่หลงผิดจากอะไร

คำตอบคือ ไม่หลงผิดจากความเป็นจริงแท้ หรือ "สัจธรรม" ที่พระพุทธองค์ทรงแจ่มแจ้ง และประกาศแล้ว เช่น 

1. การปรุงประกอบทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตนใด ๆ

2. เหตุแห่งความทุกข์ คือ อวิชชา และตัณหา

3. ความบริสุทธิ์คือบรมสุข เรียกว่า "พระนิพพาน"

4. การวิวัฒน์ด้วยกระบวนการคุณธรรมที่ถูกต้องคือวิถีสู่อมตภาพ ประกอบด้วยความเข้าใจถูกต้อง ความตั้งใจถูกต้อง การพูดจาถูกต้อง การกระทำถูกต้อง ดำรงชีพถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง สติตั้งมั่นถูกต้อง สมาธิถูกต้อง ญาณแจ่มแจ้งถูกต้อง บรรลุธรรมถูกต้อง

สัจธรรม หรือความเป็นจริงแท้นี่แหละที่ทุกภพภูมิ ทุกเทพพรหม และทุกศาสดาแจ่มแจ้งไม่เท่ากัน จึงก่อให้เกิดคำสอนที่ไม่เหมือน ต่างกันตามระดับความแจ่มแจ้งของศาสดา  

ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ชัดนะ ระบบธรรมคือ สัจธรรม มีหนึ่งเดียวไม่มีสอง แต่คำสอนของศาสนา และลัทธิ และสำนักปรัชญา และสำนักวิชาการทั้งหลาย ต่างกันตามระดับความแจ่มแจ้งของศาสดา และสาวก หรือนักวิจัย

เมื่อแจ่มแจ้งสัจธรรมต่างกัน เป้าหมายสูงสุดของแต่ละศาสนา แต่ละศาสตร์จึงต่างกัน กระบวนการพัฒนาชีวิตจิตใจ การบริหารความตาย และการสืบต่อหรือไม่สืบต่อจึงต่างกัน

๖. มิติของการบรรลุธรรม

เนื่องจากแต่ละศาสนามีเป้าหมายต่างกัน การบรรลุผลจึงต่าง

คริสต์ อิสลาม มีเป้าหมายไปอยู่กับพระเจ้าบนสวรรค์ จึงเน้นทาน กับศีลเบื้องต้น

ฮินดู มีเป้าหมายไปเป็นหนึ่งกับพรหม จึงเน้นสมาธิ

เต๋า มีเป้าหมายไปเป็นหนึ่งกับความว่าง จึงเน้นการไม่ยึดถือความมี

พุทธ มีเป้าหมายไปเป็นหนึ่งกับอมตธาตุ จึงเน้นความบริสุทธิ์

การที่จะ บริสุทธิ์ ได้นั้น ต้องวิราคะเหตุแห่งทุกข์และกองทุกข์สะสม (อาสวะกิเลส และกิเลสน้อยใหญ่)

การจะ วิราคะ ได้นั้น ก็ต้องมีปัญญาญาณเห็นสิ่งที่ต้องละจริง ว่าอยู่ตรงไหน ลักษณะและพลังเป็นอย่างไร จะวิราคะได้ด้วยวิธีใดจึงจะสำเร็จผล

การจะมี ปัญญาญาณ ได้นั้น ก็ต้องมีสมาธิที่ลึกซึ้ง ใจตั้งมั่นผ่องใส  เพราะอวิชชา ตัณหา อาสวะกองทุกข์ อยู่ในใจทั้งสิ้น

การจะมี สมาธิ ได้นั้น ก็ต้องมีสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสติในกาย ความรู้สึก จิต และองค์ธรรมในใจ

การจะมี สติ ได้นั้น ก็ต้องมีความเพียรที่แม่นยำสายกลาง

เพียร ในอะไร

เพียรละบาปที่มีแล้ว เพียรป้องกันบาปใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งก็คือศีลนั่นเอง

เพียรเจริญบุญที่ยังไม่มีให้มีขึ้น เพียรรักษาบุญที่มีแล้วให้งอกงาม ซึ่งได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ขวนขวายในกิจส่วนรวม ประพฤติอ่อนโยน ฟังธรรม แสดงธรรม อุทิศส่วนกุศล  อนุโมทนาส่วนกุศล ปรับจิตให้ตรงสัจธรรม

เป็นอันว่า ทาน ศีล ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญาญาณ วิราคะ คือกระบวนการมาตรฐานสู่การบรรลุธรรม

๗. มิติของการปฏิบัติ

เมื่อการปฏิบัติมี Standard Practice ตามกระบวนการดังกล่าว เราสามารถสร้างส่วนผสมที่ง่าย ได้ผลเร็ว ได้หรือไม่

คำตอบ คือ ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การผสมส่วนวิธีปฏิบัติ มีสี่สัมฤทธิผล คือ

1. ปฏิบัติง่าย สำเร็จเร็ว

2. ปฏิบัติง่าย สำเร็จช้า

3. ปฏิบัติยาก สำเร็จเร็ว

4. ปฏิบัติยาก สำเร็จช้า

พวกเราคงอยากได้วิธีปฏิบัติง่าย สำเร็จเร็ว พระพุทธองค์ทรงบอกอาฬวกยักษ์ว่า "การปฏิบัติธรรมอย่างลัดย่อ คือ การปล่อยวาง" เพราะกลไกที่จะวิมุตติได้ต้องวิราคะ คือ ปล่อยวาง

เราก็มาออกแบบกระบวนการปฏิบัติง่ายสำเร็จง่ายได้โดยตั้ง "วิราคะ หรือ ปล่อยวางให้ถึงรากเหง้าแห่งใจ" เป็นภาวนาหลัก แล้วใช้ปัญญาญาณเสริม สมาธิเสริม สติเสริม ความเพียรเสริม ศีลเสริม จาคะเสริม ก็จะเป็นการปฏิบัติง่ายสำเร็จเร็ว

๘. มิติของบุคคล

บางคนตั้งจิตปล่อยวางแล้ว ก็บรรลุธรรมเลย 

บางคนบอกว่าปล่อยแล้ว วางอีก ก็ยังไม่บรรลุธรรมสักที นั่นเพราะมีมิติของบุคคลเข้ามาเป็นตัวแปรด้วย

ท่านที่วิราคะ ปล่อยวางแล้วบรรลุได้เลย เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ผู้ที่บรรลุธรรมเร็วเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมามาก จนมีอำนาจใจเด็ดขาด เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลานะ บำเพ็ญบารมีมา 1 อสงไขย จนอำนาจใจเด็ดขาด ฟังธรรมสั้น ๆ จากท่านพระอัสสชิบทเดียวว่า "พระศาสดาทรงสอนว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ เมื่อจะดับ ก็ดับที่เหตุแห่งธรรมนั้น" ก็บรรลุธรรมเลยทันที

บางคนฟังธรรมบทนี้หลายต่อหลายครั้งก็ยังไม่บรรลุธรรม แสดงว่าบารมียังน้อย

2. ผู้ที่บรรลุธรรมเร็วเป็นผู้ที่เคยอุทิศชีวิตเพื่อการบรรลุธรรมมาก่อนในอดีตชาติ จนจิตเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ตรงสู่การบรรลุธรรม เช่น ท่านพระทัพพมัลลบุตร ท่านพระกุมารกัสสปะ ท่านพระสิวลี ท่านพระเรวตะ ท่านพระพาหิยะ เป็นต้น ท่านเหล่านี้ล้วนได้เนกขัมมปรมัตถบารมีเต็ม พร้อมแก่การบรรลุธรรม

พระสิวลีตั้งใจบรรลุธรรม น้อมในพระพุทธ พระธรรม พระอรหันต์ และความบริสุทธิ์ พอปลงผมเสร็จก็สำเร็จอรหันต์แล้ว

ท่านพระหาหิยะฟังธรรมสั้น ๆ จากพระพุทธองค์บทเดียวว่า "เมื่อเธอเห็นก็สักว่าเห็น เมื่อเธอได้ยินก็สักว่าได้ยิน เมื่อเธอรู้ก็สักว่ารู้ ไม่ใส่ใจโดยพยัญชนะ (ถ้อยคำ) และอนุพยัญชนะ (นิยาม ความนิยม ความไม่นิยม) อยู่เถิด" ท่านน้อมใจตามธรรม ก็สำเร็จอรหันต์เลย เป็นต้น

บางคนน้อมใจตามธรรมแล้วน้อมใจอีก ก็ยังไม่บรรลุธรรม แสดงว่าไม่เคยอุทิศชีวิตเพื่อการบรรลุธรรมมาก่อน

ดังนั้นจะบรรลุธรรมง่ายและเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย

๙. มิติของตนเอง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีกำลังพอที่จะบรรลุธรรมได้ไหม 

วิธีพิสูจน์ง่าย ๆ เอาธรรมบทใดบทหนึ่งมาโอปนยิโก น้อมธรรมสู่ใจ แล้วโยนิโสมนสิการ พิจารณาให้แยบคาย แล้วอุปสมานุสสติ น้อมใจสู่นิพพานธรรม ๑๐๐% หากบรรลุธรรมได้เลย แสดงว่าบารมีแก่กล้าได้ที่แล้ว

บางคนโอปนยิโกก็แล้ว โยนิโสมนสิการก็แล้ว น้อมใจสู่พระนิพพานธรรมก็แล้ว ยังไม่บรรลุธรรมสักที แสดงว่าบารมียังไม่แก่กล้าเพียงพอ ก็ต้องบำเพ็ญบารมีเพิ่มเติม ให้มีปรมัตถบารมีบ้าง

ถ้าทำไม่ได้เพราะมีเหตุผลสารพัด เหตุผลทั้งหมดนั่นแหละคือโครงข่ายเหตุแห่งทุกข์ และสวะทุกข์สะสมอยู่ในใจ จนปิดกั้นการบรรลุธรรม ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องออกแบบกระบวนการออกจากทุกข์โดยลำดับที่เหมาะกับตน

๑๐. มิติของความสำเร็จผลตามความเป็นไปได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "การบรรลุธรรมเป็นไปโดยลำดับเสมือนการลาดลุ่มลึกแห่งมหาสมุทร"

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะออกแบบการปฏิบัติของตนเองให้เป็นสายกลาง ที่พอเหมาะพอดีกับระดับกำลังจิต อำนาจใจของตน โดยให้อยู่ในกรอบ ศีล ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญาญาณ วิราคะ สู่ความบริสุทธิ์ อมตะ 

เมื่อทำเช่นนี้ ก็จะบรรลุธรรมโดยลำดับ ตามความเป็นไปได้กับบริบทของตนเอง

จงยินดีในความสำเร็จที่เป็นไปได้สำหรับตน จะสมหวังเสมอ 

อย่าเปรียบเทียบตนกับคนอื่น เพราะการเปรียบเทียบทำให้เกิดมานะกิเลส เมื่อปฏิบัติธรรมด้วยกิเลส จะพลาดเป้าและผิดหวังเนือง ๆ

จะตรงเป้าต้องปฏิบัติธรรมด้วยจิตสำนึกสู่ความหมดจด ศีลสะอาด สมาธิผ่องใส ปัญญาญาณแจ่มแจ้ง วิราคะได้ทุกที่ โดยมีความเพียรสายกลางเป็นตัวประคับประคองส่งไป 

หากปฏิบัติอย่างพอเหมาะพอดีอย่างนี้ จะบรรลุธรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกภารกิจ เพราะปรากฏการณ์แห่งการบรรลุธรรมจะเกิดที่จิตแห่งมรรคสมังคี + ญาณแจ่มแจ้ง + วิราคะเด็ดขาด