Main navigation

ใช้สอยโภคทรัพย์ที่หามาได้อย่างไรจึงสมควรแก่เหตุ

Q ถาม :

อย่างไรจึงชื่อว่าใช้สอยโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยสมควรแก่เหตุ ไม่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ไม่สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก  คือ

ขอ โภคะ จงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๑

ขอ ยศ จงเฟื่องฟูแก่เรา พร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒

ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษา อายุ ให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรมประการที่ ๓

เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ นี้ เป็นธรรมประการที่ ๔

ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก คือ

สัทธาสัมปทา ๑
สีลสัมปทา ๑
จาคสัมปทา ๑
ปัญญาสัมปทา ๑

สัทธาสัมปทาเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัย ย่อมเป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่น ยิ่งไปกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา

สีลสัมปทาเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามเป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา

จาคสัมปทาเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เรียกว่าจาคสัมปทา

ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน

บุคคลมีใจอันอภิชฌา (ความโลภ) ครอบงำแล้ว พยาบาทครอบงำแล้ว ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน) ครอบงำแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) ครอบงำแล้ว วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ

เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข

อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะเสีย

รู้ว่า พยาบาท เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละพยาบาทเสีย

รู้ว่า ถีนมิทธะ เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละถีนมิทธะเสีย

รู้ว่า อุทธัจจกุกกุจจะ เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะเสีย

รู้ว่า วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละวิจิกิจฉาอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสีย

เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะเสียได้

รู้ว่า พยาบาท เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละพยาบาทเสียได้

รู้ว่า ถีนมิทธะ เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละถีนมิทธะเสียได้

รู้ว่า อุทธัจจกุกกุจจะ เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะเสียได้

รู้ว่า วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละวิจิกิจฉาสียได้

อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา

การใช้โภคทรัพย์โดยสมควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรมได้มาแล้วโดยธรรม

กรรม ๔ ประการ คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตน เลี้ยงมารดา บิดา เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวาร เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ฯลฯ

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ฯลฯ กระทำตนให้สวัสดี

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี (การรับรองแขก) ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ฯลฯ

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลส เห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ฯลฯ

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้

โภคทรัพย์ของใคร ๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้สอยโดยไม่สมควรแก่เหตุ

ส่วนโภคทรัพย์ของใคร ๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ

โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยง เราได้เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามีผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว

อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เราได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์เราได้บำรุงแล้ว

บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว

นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์

 

 

ที่มา
ปัตตกรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๖๑