Main navigation

พระปาราสริยเถระ

ว่าด้วย
ผู้กำจัดอินทรีย์ ด้วยอินทรีย์
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระปาราสริยเถระ

พระปาราสริยเถระ ผู้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านได้ฟังธรรมอินทริยภาวนาสูตร และได้ศรัทธาออกบวช เรียนเอาพระสูตรนั้นไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต

กาลต่อมา ได้กล่าวคาถา ความว่า

บุรุษผู้รักษาและคุ้มครองอินทรีย์นั่นแหละ จึงชื่อว่าเป็นผู้กระทำกิจของตน และชื่อว่าไม่เบียดเบียนใครๆ

ผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์อันเป็นไปในรูปทั้งหลาย โสตินทรีย์อันเป็นไปในเสียงทั้งหลาย ยังไม่เห็นโทษ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออก ซ่องเสพในในกลิ่น ยินดีในรส ยินดีในโผฏฐัพพะอันสวยงาม ไม่อาจรักษาใจจากธรรมเหล่านี้  ทุกข์จากอารมณ์ทั้ง ๕ ย่อมติดตามผู้นั้นไป ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์

คนพาลย่อมไม่รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นของเผ็ดร้อน มีรสหวานชื่นใจ ผูกพันด้วยความรัก เป็นทุกข์ ฉาบไล้ไว้ด้วยสิ่งที่น่าชื่นใจ เหมือนมีดโกนอันทาด้วยน้ำผึ้ง

บุคคลผู้กำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะของหญิง ย่อมประสบทุกข์มีประการต่าง ๆ กระแสตัณหาในหญิงทั้งปวงย่อมไหลไปในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ

ผู้ใดมีความเพียรสามารถป้องกันกระแสตัณหาเหล่านั้นได้ ผู้นั้นตั้งอยู่ในอรรถ ตั้งอยู่ในธรรม เป็นผู้ขยัน มีปัญญาเครื่องพิจารณา แม้จะยังยินดีในการครองเรือน ก็พึงทำกิจอันประกอบด้วยอรรถและธรรม

บุคคลพึงยึดเอาแต่กิจที่ประกอบด้วยประโยชน์ และความยินดีอันประกอบด้วยธรรมแล้วประพฤติ เพราะว่าความยินดีในธรรมเป็นความยินดีสูงสุด

บุคคลผู้อบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา กำจัดอินทรีย์ ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ผู้ไม่มีทุกข์ไป

 

 

อ่าน ปาราสริยเถรคาถา

 

อ้างอิง
ปาราสริยเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๘๖ หน้า ๓๒๑-๓๒๒
ลำดับที่
19

สถานที่

ไม่ระบุ

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ