Main navigation

พระภูตเถระ

ว่าด้วย
ผู้ยินดียิ่งในความสงัด
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระภูตเถระ - พระภูตเถระประกาศการยินดียิ่งในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่าแก่ญาติ ผู้ปรารถนาให้ท่านอยู่อย่างไม่ลำบากและพวกตนได้เจริญบุญขึ้น

ท่านพระภูตะเถระผู้ได้บำเพ็ญ สั่งสมบุญซึ่งเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ได้นามว่าเสนะ วันหนึ่งพบพระศาสดา มีใจเลื่อมใส จึงชมเชยด้วยคาถา ๔ คาถา ว่า

ผู้ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ทรงชนะวิเศษ มีพระฉวีวรรณดังทองคำแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

ผู้เห็นพระฌานของพระพุทธเจ้าอันเปรียบเหมือนภูเขาหิมวันต์อันประมาณไม่ได้ ดังสาครอันข้ามได้ยากแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

ผู้เห็นศีลของพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนแผ่นดินอันประมาณไม่ได้ ดุจมาลัยประดับศีรษะอันงดงาม ฉะนั้นแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

ผู้เห็นพระญาณของพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบดุจอากาศอันไม่กำเริบ ดุจอากาศอันนับไม่ได้ฉะนั้นแล้ว ใครจะไม่เลื่อมใสเล่า

ด้วยการสรรญเสริญนั้น ท่านไม่ได้เข้าถึงทุคติเลยตลอด ๙๔ กัป

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นลูกชายของเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติมากในบ้านใกล้ประตูนครสาเกต

ท่านเศรษฐีมีบุตรหลายคน แต่ถูกยักษ์จับกินเสีย เพราะผูกใจอาฆาตไว้ แต่สำหรับเด็กคนนี้ พวกภูตพากันคุ้มครองไว้ได้ เพราะความที่เป็นผู้เกิดชาติสุดท้าย ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อเว่า ภูตะ

เมื่อรู้เดียงสา ท่านพร้อมกับพวกอุบาสกพากันไปยังวิหาร ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาในพระนครสาเกต เกิดมีศรัทธา ออกบวช แล้วอยู่ในถ้ำใกล้ฝั่งแม่น้ำชื่อว่าอชกรณี เริ่มเจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต.

สมัยต่อมา พระเถระต้องการอนุเคราะห์หมู่ญาติ จึงไปยังพระนครสาเกต ได้รับการบำรุงจากพวกญาติ ๒-๓ วัน ก็ไปอยู่ในป่าไม้อัญชัน

พวกญาติพากันอ้อนวอนให้พระเถระอยู่ต่อเพื่อความไม่ลำบากและพวกตนได้เจริญบุญขึ้น

พระเถระประกาศการยินดียิ่งในความสงัดและความอยู่ผาสุกสบายในป่าของตน จึงกล่าวคาถาว่า

เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ในเบญจขันธ์ที่ปุถุชนทั้งหลายไม่รู้แจ้งว่า ความแก่และความตายนี้เป็นทุกข์ แล้วจมอยู่ เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ประสบความยินดีในเบญจขันธ์นั้น ยิ่งไปกว่าความยินดีในวิปัสสนา และในมรรคผล

เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาอันนำทุกข์มาให้ ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ นำมาซึ่งทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่องแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น

เมื่อใด บัณฑิตถูกต้องทางอันสูงสุด เป็นทางปลอดโปร่ง ให้ถึงองค์ ๒ และองค์ ๔ เป็นที่ชำระกิเลสทั้งปวงด้วยปัญญา มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเพ่งพิจารณานั้น

เมื่อใด บัณฑิตเจริญสันตบทอันไม่ทำให้เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง เป็นเครื่องตัดกิเลสเครื่องผูกพัน คือสังโยชน์ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเจริญสันตบทนั้น

เมื่อใด กลอง คือ เมฆอันเกลื่อนกล่นด้วยสายฝน ย่อมคำรนร้องอยู่บนนภากาศอันเป็นทางไปแห่งฝูงนกอยู่โดยรอบ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งธรรมนั้น

เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย อันดารดาษไปด้วยดอกโกสุม และดอกมะลิที่เกิดในป่าอันวิจิตรงดงาม ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการนั่งเพ่งพิจารณาธรรมนั้น

เมื่อใด มีฝนฟ้าร้องในเวลาราตรี ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยวก็พากันยินดีอยู่ในป่าใหญ่ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้น ย่อมไม่ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น

เมื่อใด ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตน เข้าไปสู่ถ้ำภายในภูเขา ปราศจากความกระวนกระวายใจ ปราศจากกิเลสอันตรึงใจ เพ่งพิจารณาธรรมอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น

เมื่อใด ภิกษุมีความสุข ยังมลทินกิเลสอันตรึงจิตและความเศร้าโศกให้พินาศ ไม่มีกลอนประตู คือ อวิชชา ไม่มีป่าคือตัณหา ปราศจากลูกศรคือกิเลส เป็นผู้ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เพ่งพิจารณาธรรมอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งพิจารณาธรรมนั้น
 

 


อ่าน ภูตเถรคาถา

 

 

อ้างอิง
ภูตเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๖/๓๖๙/๒๙๕-๒๙๖ และอรรถกถา
ลำดับที่
12

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ