Main navigation

พระสีลวเถระ

ว่าด้วย
ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของ

ท่านพระสีลวถระได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้น ๆ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสารในกรุงราชคฤห์ มีพระนามว่าสีลวะ

ครั้นท่านเจริญวัยแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูประสงค์จะฆ่าท่าน จึงยกขึ้นสู่ช้างมันดุร้าย แม้พยายามอยู่ด้วยอุบายต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะให้ตายได้ เพราะท่านเกิดในภพสุดท้าย ไม่มีอันตรายต่อชีวิตในระหว่างยังไม่บรรลุพระอรหัต

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นความเป็นไปของท่าน จึงตรัสสั่งให้พระมหาโมคคัลลานเถระนำสีลวกุมารมา เมื่อพระกุมารมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่อัธยาศัยของท่าน ท่านฟังธรรมแล้วได้ศรัทธา บรรพชา บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัตอยู่ในโกศลรัฐ

ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงสั่งบังคับราชบุรุษทั้งหลายให้ฆ่าพระเถระ ราชบุรุษเหล่านั้นไปยังสำนักของพระเถระ ได้ฟังธรรมกถาที่พระเถระแสดง เกิดความสังเวชมีจิตเลื่อมใสจึงบวช

พระเถระได้แสดงธรรมแก่บรรพชิตเหล่านั้นด้วยคาถาเหล่านี้ ความว่า 

สีลวเถรคาถา คาถาสรรเสริญคุณของศีล

ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้ 

นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการคือ ความสรรเสริญ ๑ การได้ความปลื้มใจ ๑ ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว ๑

พึงรักษาศีล ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร

นรชนผู้ทุศีลย่อมได้รับการติเตียนและการเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ

ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพาน ของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

ศีลเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์ 

ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ

ศีลเป็นเสบียงอันเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ

คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป

ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงในที่ทุกสถานในโลกนี้

ศีลเท่านั้นเป็นยอด และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา

 

 

อ่าน สีลวเถรคาถา

อ้างอิง
สีลวเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๗๘
ลำดับที่
4

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ