Main navigation

อุปักกิเลสสูตร

ว่าด้วย
ความเศร้าหมองแห่งจิต
เหตุการณ์
พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้น ถึง ๓ ครั้ง ว่า อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง ทูลให้พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ขวนขวายน้อย อยู่ในสุขวิหารธรรมต่อไป พวกตนยังต้องการยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ วิวาทกัน

พระผู้มีพระภาคได้กล่าวคาถาว่า

ก็ชนเหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ

ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้

เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลยในกาลไหน ๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่

ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชมมีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ พึงเป็นอยู่ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ และเหมือนช้างมาตังคะในป่า

การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยในป่า

แล้วทรงเสด็จไปยังบ้านพาลกโลณการ ทรงสนทนากับพระภคุ แล้วเสด็จต่อไปยังป่าปาจีนวงส์

พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมพิละมีความพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดังนมสดและน้ำ มองดูซึ่งกันและกันด้วยนัยน์ตาที่น่ารัก ด้วยความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้ว ที่อยู่กับเพื่อนภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์เห็นปานนี้ จึงต่างตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมประกอบด้วยเมตตาทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ และวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านอื่น ต่างกันแต่กายเท่านั้น ส่วนจิตคงเป็นอันเดียวกัน

ทั้งสามต่างเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ รู้สึกถึงแสงสว่างและนิมิต แต่ไม่เท่าไร แสงและนิมิตนั้นก็หายไป ยังไม่แทงตลอดในนิมิตนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต้องแทงตลอดนิมิตนั้น การที่แสงสว่างและนิมิตนั้นหายไปก็เคยเกิดกับพระผู้มีพระภาคสมัยที่ยังไม่ตรัสรู้ 

ทรงมีความดำริว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปหายไปได้ แล้วได้ทรงรู้ว่า วิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเหล่านี้เป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง ทำให้สมาธิเคลื่อนไป แสงสว่างและนิมิตจึงหายไป จึงทรงละเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองเหล่านั้นได้

ทรงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ รู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง

จึงทรงมีความดำริว่า อะไรป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทรงรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง แล้วได้ทรงรู้ดังนี้ว่า สมัยใด ทรงไม่ใส่ใจนิมิตคือรูป ใส่ใจแต่นิมิตคือแสงสว่าง สมัยนั้น ทรงรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป ส่วนสมัยใด ทรงไม่ใส่ใจนิมิตคือแสงสว่าง ใส่ใจแต่นิมิตคือรูป สมัยนั้น ทรงย่อมเห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง

ทรงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ย่อมรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้

จึงทรงมีความดำริว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทรงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้ แล้วได้ทรงรู้ดังนี้ว่า สมัยใด ทรงมีสมาธินิดหน่อย สมัยนั้น ก็ทรงมีจักษุนิดหน่อย ด้วยจักษุนิดหน่อย จึงทรงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย ส่วนสมัยใด ทรงมีสมาธิหาประมาณมิได้ สมัยนั้น ก็ทรงมีจักษุหาประมาณมิได้ ด้วยจักษุหาประมาณมิได้ จึงทรงรู้สึกแสงสว่างหาประมาณมิได้ และเห็นรูปหาประมาณมิได้ 

ทรงได้รู้ดังนี้ว่า เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองนั้นๆ ทรงละได้แล้วแล ดังนั้น จึงทรงเจริญสมาธิโดยส่วนสามได้ในบัดนี้

พระผู้พระภาคนั้นได้เจริญสมาธิมีวิตก มีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตก มีแต่วิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตก ไม่มีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง

เพราะสมาธิที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นอันได้ทรงเจริญแล้ว ฉะนั้น ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า วิมุตติของท่านไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี



อ่าน อุปักกิเลสสูตร

 

อ้างอิง
อุปักกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๔๓๙-๔๖๖ หน้า ๒๒๙-๒๓๙
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม