Main navigation

นิพเพธิกสูตร

ว่าด้วย
ธรรมปริยายชำแรกกิเลส
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเรื่อง การชำแรกกิเลส

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสธรรมปริยายที่เป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส คือ

เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เวทนา สัญญา อาสวะ กรรม และทุกข์ เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกาม เวทนา สัญญา อาสวะ กรรม และทุกข์

กาม
           
กามคุณ ๕ ประการ คือ
รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ... 
เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู...
กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก...
รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น...
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย...
อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด
           
อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก ไม่ชื่อว่ากาม ความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยความดำริของบุรุษ ชื่อว่ากาม

อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก ย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของตน ส่วนธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจ ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น
           
เหตุเกิดแห่งกาม คือ ผัสสะ

ความต่างกันแห่งกาม คือ กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง กามในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง

วิบากแห่งกาม คือ การที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากความใคร่นั้น ๆ เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ

ความดับแห่งกาม คือ ความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม

เมื่อใด อริยสาวกทราบชัดกาม เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งกาม

เวทนา

เวทนา ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

เหตุเกิดแห่งเวทนา คือ ผัสสะ

ความต่างกันแห่งเวทนา คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่ ที่ไม่เจือด้วยอามิสก็มีอยู่

วิบากแห่งเวทนา คือ การที่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากเวทนานั้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ

ความดับแห่งเวทนา คือ ความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา

เมื่อใดอริยสาวกทราบชัดเวทนา เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนา เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัด พรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับเวทนานี้

สัญญา

สัญญา ๖ ประการ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา

เหตุเกิดแห่งสัญญา คือ ผัสสะ
ความต่างแห่งสัญญา คือ สัญญาในรูปเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในรสเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในธรรมารมณ์เป็นอย่างหนึ่ง

วิบากแห่งสัญญา คือ สัญญามีคำพูดเป็นผล  เพราะว่าบุคคลรู้สึกโดยประการใด ก็ย่อมพูดโดยประการนั้น ว่า เราเป็นผู้มีความรู้สึกอย่างนั้น

ความดับแห่งสัญญา คือ ความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งสัญญา

เมื่อใด อริยสาวกทราบชัดสัญญา เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งสัญญา  เมื่อนั้น อริยสาวก ย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส

อาสวะ

อาสวะ ๓ ประการ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ

เหตุเกิดแห่งอาสวะ คือ อวิชชา

ความต่างแห่งอาสวะ คือ อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่นรก เป็นเหตุให้ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเหตุให้ไปสู่เปรตวิสัย เป็นเหตุให้ไปสู่มนุษย์โลก เป็นเหตุให้ไปสู่เทวโลกก็มี

วิบากแห่งอาสวะ คือ การที่บุคคลมีอวิชชา ย่อมยังอัตภาพที่เกิดจากอวิชชานั้น ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ

ความดับแห่งอาสวะ คือ ความดับแห่งอวิชชา

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งอาสวะ

เมื่อใดอริยสาวกทราบชัดอาสวะ เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เมื่อนั้น อริยสาวกย่อมทราบชัด พรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับอาสวะนี้

กรรม

กรรม เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

เหตุเกิดแห่งกรรม คือ ผัสสะ

ความต่างแห่งกรรม คือ กรรมที่ให้วิบากในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์โลก เทวโลกก็มี

วิบากแห่งกรรม มี ๓ ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑

ความดับแห่งกรรม คือ ความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

เมื่อใดอริยสาวกทราบชัดกรรม เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม เมื่อนั้น อริยสาวกย่อมทราบชัดพรหมจรรย์ อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้

ทุกข์

ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

เหตุเกิดแห่งทุกข์ คือ ตัณหา

ความต่างแห่งทุกข์ คือ ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกข์ที่คลายช้า ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี

วิบากแห่งทุกข์ คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์อย่างใดครอบงำ มีจิตอันทุกข์กลุ้มรุม ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง  เรากล่าวทุกข์ว่ามีความหลงใหลเป็นผล หรือการแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล

ความดับแห่งทุกข์ คือ ความดับแห่งตัณหา

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์

เมื่อใดอริยสาวกทราบชัดทุกข์ เหตุเกิด ความต่าง วิบาก ความดับ และปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลสเป็นที่ดับทุกข์

 

อ่าน นิพเพธิกสูตร

 

อ้างอิง
นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๓๔ หน้า ๓๖๕-๓๖๙
ลำดับที่
15

สถานที่

ไม่ระบุ

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม