Main navigation

อรณวิภังคสูตร

ว่าด้วย
การจำแนกธรรมที่ไม่มีกิเลส
เหตุการณ์
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี ได้ทรงแสดงอุเทศแห่งอรณวิภังค์แก่ภิกษุทั้งหลาย

อรณวิภังค์

ไม่พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งสุขอาศัยกามอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ความปฏิบัติสายกลาง ไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้ เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

พึงรู้ตัดสินความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความสุขภายใน

ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า

พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน

ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย

อุเทศแห่งอรณวิภังค์

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งสุขอาศัยกามอันเลว และการประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด

การไม่ตามประกอบความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกามอันเลว การไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ

ความปฏิบัติสายกลางไม่เข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่าง คือ มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ

ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น คือ

เมื่อกล่าวว่าชนเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติผิด ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง

การกล่าวอยู่ว่าอันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด หรือกล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

พึงรู้ตัดสินความสุข และพึงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความสุขภายใน คือ

พึงรู้ว่าสุขโสมนัสใดอาศัยกามคุณ ๕ เกิดขึ้น สุขโสมนัสนี้เรียกว่า สุขอาศัยกาม สุขของปุถุชน สุขในที่ลับ ไม่ใช่สุขของพระอริยะ เรากล่าวว่า ไม่พึงเสพ ไม่พึงให้เจริญ ไม่พึงทำให้มาก พึงกลัวสุขนี้

พึงรู้สุขอันเกิดจากปฐมฌาณ ทุติยฌาณ ตติยฌาณ จตุตถฌาณ สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ พึงเสพให้มาก พึงให้เจริญ พึงทำให้มาก ไม่พึงกลัวสุขนี้

พึงรู้วาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้า ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า คือ

พึงรู้วาทะลับหลังใดไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด 

แม้รู้วาทะลับหลังใดจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียก เพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น 

เมื่อรู้วาทะใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าววาทะนั้น

พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใดไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด

แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใดจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น

และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น 

พึงเป็นผู้ไม่รีบด่วนพูด อย่าพูดรีบด่วน คือ

เมื่อรีบด่วนพูด กายก็ลำบาก จิตก็แกว่ง เสียงก็พร่า คอก็เครือ แม้คำพูดของผู้ที่รีบด่วนพูด ก็ไม่สละสลวย ไม่พึงรู้ชัดได้ 

เมื่อไม่รีบด่วนพูด กายไม่ลำบาก จิตก็ไม่แกว่ง เสียงก็ไม่พร่า คอก็ไม่เครือ แม้คำพูด ก็สละสลวย พึงรู้ชัดได้

ไม่พึงปรักปรำภาษาชนบท ไม่พึงล่วงเลยคำพูดสามัญเสีย คือ

คำคำหนึ่งเช่น ภาชนะ ท้องถิ่นแต่ละแห่งอาจจะมีคำเรียกที่ไม่เหมือนกัน

การพูดโดยที่ทำให้ชนหมายเอาคำหนึ่งตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้คือการปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการล่วงเลยคำพูดสามัญ

การพูดโดยไม่ยึดมั่นที่ทำให้ชนในท้องถิ่นหมายรู้คำ ๆ หนึ่งว่า ที่ท่านพูดหมายถึงคำ ๆ นี้ ชื่อว่าเป็นการไม่ปรักปรำภาษาชนบท และเป็นการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ

ธรรมยังมีกิเลส

-  ความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขเพราะสืบต่อกามอันเลว 
-  ความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบากอันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
-  การยกยอ การตำหนิ ไม่ใช่เป็นการแสดงธรรม
-  วาทะลับหลังซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
-  วาทะลับหลังซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
-  คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้า ซึ่งไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
-  คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
-  คำที่ผู้รีบด่วนพูด
-  การปรักปรำภาษาชนบท และการล่วงเลยคำพูดสามัญ

นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลส

ธรรมไม่มีกิเลส

-  การไม่ตามประกอบความประกอบเนือง ๆ ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกามอันเลว
-  การไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
-  ความปฏิบัติสายกลางอันตถาคตรู้พร้อมด้วยปัญญายิ่งแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
-  การไม่ยกยอ การไม่ตำหนิ การแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
-  วาทะลับหลังซึ่งจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์
-  คำกล่าวล่วงเกินต่อหน้าซึ่งจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์
-  คำที่ไม่รีบด่วนพูด
-  สุขที่เกิดจากปฐมฌาณ ทุติยฌาณ ตติยฌาณ จตุตถฌาณ สุขอาศัยเนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้
-  การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ

นี้ เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลส



อ่าน อรณวิภังคสูตร
 

อ้างอิง
อรณวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๕๓-๖๗๒ หน้า ๓๑๙-๓๒๖
ลำดับที่
10

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม