Main navigation

สัตว์โลกมืดบอด

ว่าด้วย
ธิดานายช่างหูก
เหตุการณ์
พระศาสดาทรงปรารภธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่ง ผู้เจริญมรณสติทั้งกลางวันและกลาวคืน เป็นเวลา ๓ ปี

วันหนึ่ง พระศาสดาเสด็จถึงเมืองอาฬวี พวกชาวเมืองอาฬวีได้ทูลนิมนต์ถวายทาน พระศาสดาเมื่อจะทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตกิจ จึงตรัสให้ชาวเมืองเจริญมรณสติว่า
 
ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง ความตายเที่ยง

ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว ในกาลที่สุด ชนทั้งหลายนั้นย่อมถึงความสะดุ้ง ร้องอย่างขลาดกลัว แล้วเสียชีวิต เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัว ฉะนั้น      

ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว ชนทั้งหลายนั้นย่อมไม่สะดุ้งในกาลที่สุด ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว แล้วก็เอาท่อนไม้เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น เพราะฉะนั้น มรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ
 
พวกชนที่เหลือฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้วได้เป็นผู้ขวนขวายในกิจของตนอย่างเดียว ส่วนธิดาของนายช่างหูกอายุ ๑๖ ปีคนหนึ่ง คิดว่า ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอัศจรรย์ นางควรเจริญมรณสติ ดังนี้แล้ว ก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดทั้งกลางวันกลางคืน นางกุมาริกานั้นเจริญมรณสติ ๓ ปี
 
ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นนางกุมาริกานั้นเข้าไปภายในข่าย คือ พระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า นางกุมาริกาเจริญมรณสติ ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ฟังธรรมเทศนาของพระองค์ พระองค์จะถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานี้ เมื่อนางแก้ปัญหาอยู่ จักให้สาธุการในฐานะ ๔ แล้วภาษิตคาถานี้ ในเวลาจบคาถา นางกุมาริกานั้นจักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เพราะอาศัยนางกุมาริกานั้น เทศนาจักมีประโยชน์แม้แก่มหาชน

ดังนี้แล้ว พระองค์พร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ได้เสด็จออกจากพระเชตวัน ไปสู่อัคคาฬววิหาร นางกุมาริกานั้นทราบการเสด็จมาของพระศาสดา มีใจยินดีว่าจะได้เห็นพระสรีระซึ่งมีวรรณะดังทองคำ และจักได้ฟังธรรมอันเป็นโอวาทซึ่งไพเราะจับใจของพระศาสดา
 
ฝ่ายบิดาของนางก่อนจะไปสู่โรงหูก ได้สั่งไว้ว่าผ้าที่กำลังทอเหลืออีกคืบหนึ่งก็จะเสร็จ ให้นางกรอด้ายหลอดแล้วนำมาให้แก่บิดาโดยเร็ว
 
นางกุมาริกานั้นใคร่จะฟังธรรมของพระศาสดา แต่เกรงว่าหากไม่นำด้ายหลอดไปให้ บิดาจักโบยตีนาง นางจึงกรอด้ายหลอดให้เเก่บิดา แล้วไปฟังธรรม
 
พวกชาวเมืองอาฬวีถวายภัตตาหารแด่พระศาสดาแล้ว ยืนอยู่เพื่อต้องการอนุโมทนา พระศาสดาทรงดำริว่าจะรอให้กุลธิดานั้นมาแล้วพระองค์จักทำอนุโมทนา

ฝ่ายนางกุมาริกาเมื่อกรอด้ายหลอดแล้ว ใส่ในกระเช้า เดินไปสู่โรงหูก ได้เดินผ่านท้ายบริษัทที่กำลังเฝ้าพระศาสดา นางได้เหลือบไปดูพระศาสดา แม้พระศาสดาก็ทรงชะเง้อทอดพระเนตรนางกุมาริกานั้น นางกุมาริกานั้นได้เห็นพระศาสดาทรงทอดพระเนตรตน ทราบว่าพระองค์ทรงหวังนางมาสู่สำนักของพระองค์ นางได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา
 
พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อกับนางกุมาริกาว่า

นางมาจากไหน  นางกราบทูลว่า ไม่ทราบ
นางจักไปที่ไหน นางกราบทูลว่า ไม่ทราบ
เธอไม่ทราบหรือ นางกราบทูลว่า ทราบ
เธอทราบหรือ นางกราบทูลว่า ไม่ทราบ
 
มหาชนโพนทะนาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า 'เธอมาจากไหน' ธิดาของช่างหูกนี้ควรพูดว่า 'จากเรือนของช่างหูก' เมื่อตรัสว่า 'เธอ จะไปไหน' ก็ควรกล่าวว่า 'ไปโรงของช่างหูก'
 
พระศาสดาทรงกระทำมหาชนให้เงียบเสียง แล้วตรัสถามว่า เมื่อพระองค์กล่าวว่า 'มาจากไหน' เพราะเหตุไรนางจึงตอบว่า 'ไม่ทราบ'
 
ธิดาของนายช่างหูกตอบว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่านางมาจากเรือนช่างหูก แต่เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า 'เธอมาจากไหน' ย่อมตรัสถามว่า 'เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี้' แต่นางไม่ทราบว่า ก็เรามาแล้วจากไหน จึงเกิดในที่นี้

พระศาสดาประทานสาธุการเป็นครั้งแรกแก่นางกุมาริกานั้นว่า นางแก้ปัญหาที่พระองค์ถามได้แล้ว
 
เมื่อพระองค์ถามว่า 'เธอจะไป ณ ที่ไหน' เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า 'ไม่ทราบ'

นางตอบว่า พระองค์ทรงทราบว่านางถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังโรงของช่างหูก พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ' ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ใด' ก็นางตายจากโลกนี้แล้วย่อมไม่ทราบว่า จักไปเกิดในที่ใด"

พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ 
 
เมื่อพระองค์ถามนางว่า 'ไม่ทราบหรือ' เพราะเหตุไรจึงกล่าวว่า 'ทราบ"

นางตอบว่าย่อมทราบ ภาวะคือความตายของนางเท่านั้น เหตุนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น

พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๓ 
 
เมื่อพระองค์ถามนางว่า 'เธอย่อมทราบหรือ' เพราะเหตุไร จึงพูดว่า 'ไม่ทราบ'

นางตอบว่านางย่อมทราบแต่ภาวะคือความตายของนางเท่านั้น แต่ย่อมไม่ทราบว่าจักตายในเวลากลางคืน กลางวัน หรือเวลาเช้าเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงพูดอย่างนั้น

พระศาสดาประทานสาธุการครั้งที่ ๔ 
 
แล้วตรัสเตือนบริษัทว่า
 
พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำมีประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้ว ย่อมโพนทะนาอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะจักษุ คือ ปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี ชนเหล่านั้นเป็นดุจคนบอดทีเดียว จักษุคือปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่ ชนเหล่านั้นนั่นแล เป็นผู้มีจักษุ
 
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
 
สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนตาบอด
ในโลกนี้ น้อยคนนัก จะเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจะไปในสวรรค์
เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (มีน้อย) ฉะนั้น
 
ในเวลาจบเทศนา นางกุมาริกานั้น ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
 
ฝ่ายนางกุมาริกานั้น ได้ถือกระเช้าด้ายหลอดไปสู่โรงของช่างหูก บิดาเห็นนางแล้ว จึงโกรธที่นางมาช้า เขาได้ขว้างกระสวยอย่างแรง กระสวยพุ่งไปทิ่มท้องของนาง นางได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั้นนั่นเอง ไปบังเกิดในดุสิตภพ
 
เมื่อบิดาเห็นนางล้มลงตายแล้ว ได้มีความโศกใหญ่บังเกิดขึ้นแก่บิดานั้น เขาร้องไห้และคิดว่าผู้อื่นจักไม่สามารถทำให้ความโศกของเขาดับได้จึงไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้น พระศาสดาทรงปลอบเขา แล้วตรัสว่า

ท่านอย่าโศกเลย เพราะว่าน้ำตาของท่านอันไหลออกแล้วในกาลเป็นที่ตายแห่งธิดาของท่านด้วยอาการอย่างนั้นนั่นแล ในสงสารมีที่สุด ที่ใคร ๆ ไม่รู้แล้ว เป็นของยิ่งกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔
 
ดังนี้แล้ว จึงตรัสอัสสุสูตร เมื่อจบพระธรรมเทศนา เขามีความโศกเบาบาง ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา เมื่ออุปสมบทแล้ว ต่อกาลไม่นาน ก็บรรลุอรหัตผล




อ่าน ธิดานายช่างหูก
อ่าน คาถาธรรมบท โลกวรรค

 

อ้างอิง
ธิดานายช่างหูก พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๔๒ หน้า ๒๔๕-๒๕๒
ลำดับที่
27

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ