Main navigation

ภัยในอนาคต ๕ ประการ

ว่าด้วย
(อนาคตสูตรที่ ๓)
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัยในอนาคต ๕ ประการที่จะเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย

ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้ ยังไม่บังเกิดในปัจจุบัน แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ไว้ ครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น

ภัยในอนาคต ๕ ประการ คือ

ภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา

๑. เมื่ออุปสมบทกุลบุตรอื่น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีลอธิจิต อธิปัญญา

แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น ไม่สามารถแนะนำกุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา

๒.  จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำแม้กุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ก็จักให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่าอื่น ไม่สามารถแนะนำกุลบุตรเหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็จักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา

๓.  เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิด ก็จักไม่รู้สึก

๔.  เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้ง เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม เมื่อพระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน

แต่ว่าสูตรต่าง ๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทกวี มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อพระสูตรเหล่านั้น อันบุคคลแสดงอยู่ ก็จักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักตั้งจิตเพื่อรู้ จักฝักใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้นว่าควรศึกษาเล่าเรียน

๕.  เมื่อไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา ภิกษุผู้เถระก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง

แม้ประชุมชนนั้นก็จักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง

เพราะเหตุดังนี้ การลบล้างวินัยย่อมมี เพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมี เพราะการลบล้างวินัย

ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ไว้ ครั้นแล้ว พึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น

 

อ่าน อนาคตสูตรที่ ๓

อ้างอิง
อนาคตสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๗๙ หน้า ๙๑-๙๓
ลำดับที่
41

สถานที่

ไม่ระบุ

อารมณ์

ขี้เกียจ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย