Main navigation

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑

ว่าด้วย
ภิกษุผู้ประพฤติตาม กล่าวสนับสนุนภิกษุผู้ทำลายสงฆ์
เหตุการณ์
เหตุแรกเกิดให้พระผู้มีพระภาคบัญญัติสิกขาบทว่าด้วยผู้ประพฤติตามผู้ทำสงฆ์ให้แตกแยก

พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกะติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุททัตต์ ได้กล่าวว่า พระเทวทัตต์พูดถูกธรรม พูดถูกวินัย พระเทวทัตต์กล่าวคล้อยตามความพอใจและความเห็นชอบของพวกตน พระเทวทัตต์ทราบความพอใจ และความเห็นชอบของพวกตนจึงกล่าว คำนั้นย่อมควรแม้แก่พวกตน

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าภิกษุทั้งหลายได้ประพฤติตาม พูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ ผู้เพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ จึงทรงประชุมสงฆ์และติดเตียนว่า การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น นั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน ภิกษุเหล่านั้น จึงได้ประพฤติตามพูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ ผู้เพียรพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทในเหตุเป็นเค้ามูลนั้นว่า 

อนึ่ง มีภิกษุ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง  ๓ รูปบ้าง ประพฤติตาม กล่าวสนับสนุนภิกษุนั้น เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า

ขอท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำอะไร ๆ ต่อภิกษุนั่น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกษุนั่นถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้ากล่าวด้วย เธอทราบความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่นย่อมควรแม้แก่พวกข้าพเจ้า

ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกธรรมไม่ด้วย ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ด้วย ความทำลายสงฆ์ อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก

แลภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส

สงฆ์พึงสวดสมนุภาสน์คราวหนึ่งต่อภิกษุ ๒ รูป ๓ รูปได้ ไม่ควรสวดสมนุภาสน์ในคราวหนึ่งยิ่งกว่านั้น



อ่าน สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑
 

อ้างอิง
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑​ ข้อที่ ๖๐๐ หน้า ๗๑๗-๗๑๙
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย