Main navigation

ปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทที่ ๓

ว่าด้วย
การพรากกายมนุษย์
เหตุการณ์
เหตุแรกเกิดให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ พระปฐมบัญญัติ พระอนุบัญญัติสิกขาบทว่าด้วย การพรากกายมนุษย์

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกัมมัฏฐาน ทรงสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอุสภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณอสุภสมาบัติเนือง ๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี  แล้วประทับหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน

ภิกษุทั้งหลายก็พากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายอย่างหลายกระบวนอยู่  ภิกษุเหล่านั้นอึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์ แล้วว่าจ้างด้วยบาตรให้ช่วยปลงชีวิต

มิคลัณฑิกสมณกุตตก์คิดได้ว่าการทำเช่นนี้ไม่ใช่ลาภของตน ตนได้ชั่วแล้ว สร้างบาปไว้มาก แต่เทพยาดาในหมู่มารก็มาสรรเสริญว่าท่านทำดีแล้ว ได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้นได้  ครั้งนั้น มิคลัณฑิกสมณกุตตก์จึง ปลงชีวิตภิกษุเสียวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง... ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับเร้นแล้วได้ทราบความจากพระอานนท์ จึงทรงโปรดให้เผดียงภิกษุที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งหมดให้ประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา แล้วทรงแสดงอานาปานสติสมาธิ และตรัสว่าอานาปานสติสมาธิอันภิกษุอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน

ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดของการจงใจปลงชีวิตตนเอง ทรงติเตียน แล้วทรงพระปฐมบัญญัติสิกขาบท ว่าดังนี้

อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
 
อนุบัญญัติ

พวกพระฉัพพัคคีย์ มีจิตปฏิพัทธ์ในภรรยารูปงามของอุบาสกหนึ่งซึ่งเป็นไข้  จึงพรรณาคุณแห่งความตายและชักชวนเพื่อตาย เป็นเหตุให้อุบาสกทานโภชนะอันแสลงจนถึงแก่กรรม

พระผู้มีพระภาคจึงกล่าวติเตียนและบัญญัติ พระอนุบัญญัติ ว่าดังนี้

ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย จะมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดีโดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้



อ่าน ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓
 

อ้างอิง
ปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๑๗๖-๑๘๐ หน้า ๒๘๘-๒๙๔
ลำดับที่
5

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย