Main navigation

ฉวิโสธนสูตร

ว่าด้วย
หลักการตรวจสอบจิตที่พ้นจากอาสวะ
เหตุการณ์
เมื่อมีภิกษุพยากรณ์อรหัตตผล พระผู้มีพระภาคทรงให้ถามปัญหาว่า จิตผู้ของผู้นั้น รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธรรมต่างๆ คือ เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว ในอุปาทานขันธ์ ๕ ในธาตุ ๖ ในอายตนะภายใน ภายนอก ๖ เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หากมีภิกษุใดพยากรณ์ตนในอรหัตตผล ก็อย่าพึ่งยินดี อย่าพึ่งคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ให้พึงถามปัญหาไปตามลำดับ ดังนี้ 

จิตของท่านผู้นั้น รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ ประการ คือ เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว

ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พึงมีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ว่า จิตของตนรู้อยู่ เห็นอยู่ ดังนี้ว่า

ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้ชัด มีใจอันปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่

คำกล่าวของภิกษุนั้น ควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า 

จิตของท่านผู้นั้น รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์

ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พึงมีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ว่า จิตของตนรู้อยู่ เห็นอยู่ ดังนี้ว่า เขาได้รู้แจ้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้วว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นได้ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นได้  

คำกล่าวของภิกษุนั้น ควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า 

จิตของท่านผู้นั้น รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ ประการ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ

ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พึงมีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ว่า จิตของตนรู้อยู่ เห็นอยู่ ดังนี้ว่า เขาเป็นผู้ครองปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ โดยความเป็นอนัตตา จึงทราบชัดว่า จิตหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นธาตุทั้ง ๖ นั้น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยธาตุทั้ง ๖ นั้นได้

คำกล่าวของภิกษุนั้น ควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า 

จิตของท่านผู้นั้น รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะภายใน อายตนะภายนอก อย่างละ ๖ คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์

ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พึงมีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ว่า จิตของตนรู้อยู่ เห็นอยู่ ดังนี้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย คือความตั้งใจและความปักใจมั่นใน

จักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ       
โสต ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
ฆานะ ในกลิ่น ในฆานวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ
ชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณ และในธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ     
กาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ     
มโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
 
คำกล่าวของภิกษุนั้น ควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า 

จิตของท่านผู้นั้น รู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงอนุสัย คือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมด ในภายนอกได้ด้วยดี 

ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว พึงมีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ว่า เมื่อก่อนตนเป็นผู้ครองเรือน ครั้นได้ฟังธรรม จึงได้ความเชื่อในพระตถาคต พิจารณาเห็นว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยส่วนเดียว นี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย พึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้สันโดษ ประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะ ประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะ ละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลัง เข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว จึงน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ และได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ

เมื่อรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้น ได้มีญาณรู้ว่า หลุดพ้น รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
          
คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ควรชื่นชม อนุโมทนา ว่า สาธุ ครั้นแล้วพึงกล่าวแก่ภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้ว ที่พิจารณาเห็นท่านผู้มีอายุเช่นตัวท่านเป็นสพรหมจารี



อ่าน ฉวิโสธนสูตร

อ้างอิง
ฉวิโสธนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๖๖-๑๗๗ หน้า ๙๖-๑๐๔
ลำดับที่
15

สถานที่

วิหารเชตวัน

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม