Main navigation

การกั้นจิต

เหตุการณ์
พระภิกษุ ๕๐๐ รูป ในกรุงสาวัตถี ได้เรียนพระกัมมัฏฐานจากสำนักพระศาสดาแล้ว เดินทางไปพำนักอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ถูกเทวดารบกวน ทำให้เป็นทุกข์ จึงเดินทางกลับมาหาพระพุทธองค์

ภิกษุ ๕๐๐ รูป นำเรื่องที่พวกตนมีอารมณ์อันน่ากลัว มีความไม่ผาสุก คิดว่า ที่นั้น เป็นที่ควรเว้น ทูลแก่พระศาสดา พระศาสดาได้ทรงให้อาวุธแก่ภิกษุเหล่านั้น คือ เมตตาสูตร และทรงแนะนำให้ภิกษุสาธยายเมตตาสูตรนี้ ตั้งแต่ป่าภายนอกวิหาร เข้าไปสู่ภายในวิหาร 

ภิกษุเหล่านั้นกลับไปสู่ป่าแห่งนั้น ปฏิบัติตามที่พระศาสดาทรงแนะนำ พวกเทวดาเมื่อได้รับฟังคำสาธยายเมตตาสูตรจากพระภิกษุแล้ว กลับมีเมตตาจิต ทำการต้อนรับภิกษุเหล่านั้น เอื้อเฟื้อถึงการรับบาตรจีวร การนวดเฟ้นกาย และทำการอารักขาให้อย่างเรียบร้อยในที่นั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีเสียงของอมนุษย์และภาพที่น่ากลัวอีกต่อไป  จิตของภิกษุเหล่านั้นก็สงบมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ยังจิตให้หยั่งลงในวิปัสสนา เริ่มตั้งความสิ้นความเสื่อมในตน ว่า ขึ้นชื่อว่าอัตภาพนี้ เช่นกับภาชนะดิน เพราะอรรถว่าต้องแตก ไม่มั่นคง แล้วเจริญวิปัสสนา
 
พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเริ่มวิปัสสนา แล้วตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าอัตภาพนี้ ย่อมเป็นเช่นกับด้วยภาชนะดินโดยแท้ เพราะอรรถว่าต้องแตก ไม่มั่นคง แล้วทรงฉายพระฉัพพรรณรังสี ประหนึ่งประทับนั่งอยู่เบื้องหน้าของพระภิกษุเหล่านั้น ตรัสพระคาถานี้ว่า
 
รู้จักกายนี้ อันเปรียบด้วยหม้อ
กั้นจิตอันเปรียบด้วยนคร
พึงรบมารด้วยอาวุธ คือ ปัญญา
พึงรักษาความชนะที่ชนะแล้ว 
และพึงเป็นผู้ไม่ติดอยู่
 
ในกาลจบพระธรรมเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย 
 

-----

เมตตสูตร
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด 

สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ สัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ผอมหรือพี ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด

สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกันเพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น 

มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด  กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น 

กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู 

กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่าเป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ 

และกุลบุตรผู้เจริญเมตตาไม่เข้าไปอาศัยทิฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล

 
อ้างอิง
คาถาธรรมบท จิตตวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๓ หน้า ๑๕ และอรรถกถาเรื่อง ภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา
ลำดับที่
13

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ