Main navigation

ความสำคัญของใจ

ว่าด้วย
คาถาธรรมบท ยมกวรรค
เหตุการณ์
มหาปาละ บุตรของเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ครั้งแรก มีจิตปรารภว่า บุตรและธิดาก็ดี โภคสมบัติก็ดี ย่อมไปตามผู้ไปสู่ปรโลกหาได้ไม่ แม้สรีระก็ไปกับตัวไม่ได้ การอยู่ครองเรือนจะมีประโยชน์อะไร เขาได้อำลาน้องชายและเข้ามาบรรพชาในสำนักของพระศาสดา

พระมหาปาละอุปัชฌาย์ได้ ๕ พรรษา อยู่ในสำนักของพระอาจารย์ ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามเรื่องธุระในพระศาสนา 

พระศาสดาตรัสตอบว่าภิกษุมีธุระ ๒ อย่างเท่านั้น คือ

การเรียนในพุทธวจนะคือ พระไตรปิฎก ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่า คันถธุระ

การเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ

พระมหาปาละจึงได้ลาพระศาสดา เดินทางไปจำพรรษาพร้อมด้วยภิกษุ ๖๐ รูป ในช่วงเข้าพรรษาได้ตั้งความเพียรด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ไม่เหยียดหลัง จนเมื่อมีโรคทางตา ก็ไม่ยอมนอนหยอดยาด้วยคิดว่า จะทรงแต่พระพุทธศาสนาไว้ ไม่เห็นแก่จักษุเลย  ทั้งดวงตา ทั้งกิเลส ของท่านแตกพร้อมกัน สำเร็จเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสโก 

ท่านได้สั่งสอนภิกษุที่มาด้วยกันเสมอ ภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทุกรูป เมื่อออกพรรษาพระมหาปาละก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา โดยความช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราช

เหล่าภิกษุได้ทูลถามพระศาสดาถึงเหตุแห่งการเสียจักษุของท่านพระมหาปาละ พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าถึงบุพกรรมอันเป็นเหตุให้พระจักขุปาลเถระตาบอด และตรัสต่อไปว่า

กรรมที่พระมหาปาลเถระทำแล้วในกาลนั้น ติดตามเขาไปข้างหลัง ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม ย่อมตามผู้ทำไป เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคพลิพัท ตัวเข็นธุระไปอยู่ 

พระองค์ได้ตรัสพระคาถาสืบต่อไปว่า

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น

ในกาลจบคาถา ภิกษุสามพันรูปได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย



คาถาธรรมบท ยมกวรรค
อรรถกถาเรื่อง พระจักขุปาลเถระ

อ้างอิง
คาถาธรรมบท ยมกวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๑ หน้า ๑๑ และอรรถกถาเรื่อง พระจักขุปาลเถระ
ลำดับที่
2

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ