Main navigation

การนินทาและสรรเสริญ

เหตุการณ์
อตุลอุบาสกพาพวก 500 คน ไปยังสำนักพระเรวตะ พระสารีบุตร และพระอานนท์เพื่อขอฟังธรรม อตุลอุบาสกโกรธพระเรวตะเถระที่ไม่แสดงธรรม โกรธพระสารีบุตรที่แสดงธรรมอันละเอียด โกรธพระอานนท์ที่แสดงธรรมได้เข้าใจง่าย แล้วจึงไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบ อุบาสก 500 คน บรรลุโสดาปัตติผล

พระผู้มีพระภาคตรัสกับอตุลอุบาสกว่า

ชนทั้งหลายติเตียนทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว ผู้อันเขาพึงติเตียนอย่างเดียว หรือว่าพึงสรรเสริญอย่างเดียวไม่มีเลย

แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ

แผ่นดินใหญ่ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี คนบางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ

ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่าเป็นอันติเตียน ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ

แล้วได้ทรงภาษิตพระคาถาว่า

การนินทาและสรรเสริญนั่น เป็นของเก่า 
ไม่ใช่มีในวันนี้ 
ชนทั้งหลายย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง
ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง 
ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง 
ผู้ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก 

คนผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือสรรเสริญโดยส่วนเดียว 
ไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้
หากว่าวิญญูชนสรรเสริญผู้ใด
ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล 
ใครเล่าย่อมควรเพื่อติเตียนผู้นั้น ผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท 
แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็สรรเสริญเขา 
ถึงพรหมก็สรรเสริญแล้ว

เมื่อทรงแสดงธรรมจบ อุบาสก ๕๐๐ คน ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล


คาถาธรรมบท โกธวรรค
อรรถกถาเรื่อง อตุลอุบาสก
 

อ้างอิง
คาถาธรรมบท โกธวรรค พระไตรปิฎกฉบับหลวง ๒๕/๒๗/๓๒ และอรรถกถาเรื่อง อตุลอุบาสก
ลำดับที่
15

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ