Main navigation

โกสัมพิยสูตร

ว่าด้วย
สาราณิยธรรม ๖
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่าด้วย สาราณิยธรรม ๖ แก่ภิกษุในเมืองโกสัมพีที่เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สมัยใด ภิกษุเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ สมัยนั้นภิกษุมิได้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรมในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง 

เหตุที่ไม่ยังกันและกันให้เข้าใจ ไม่ปรารถนาความเข้าใจกัน ไม่ยังกันและกันให้ปรองดอง ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน ไม่เป็นประโยชน์ มีเพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน

ธรรม ๖ ประการ อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำความรักกัน ทำความเคารพกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน คือ

การเข้าไปตั้ง กายกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

การเข้าไปตั้ง วจีกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

การเข้าไปตั้ง มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

เมื่อได้ ลาภ ที่เกิดขึ้นโดยธรรม ได้มาโดยธรรม  ก็บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน บริโภคเป็นสาธารณะกับเพื่อนสพรหมจารีผู้มีศีล ๑

เป็นผู้มี ศีล ไม่ขาด ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท เป็นไปเพื่อสมาธิ ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกันในเพื่อสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

เป็นผู้มี ทิฏฐิ อันไกลจากข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมอันนำออก เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสเป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรม เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการ ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน

ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรม อันประกอบด้วยองค์ ๗ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ คือ

ญาณที่ ๑

ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสในภายในที่ยังละไม่ได้ ไม่มีเลย จิตเราตั้งไว้ดีแล้วเพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย 

(ปริยุฏฐานกิเลส คือ มีจิตอันพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา กลุ้มรุม เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้ โลกหน้า และเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่)

ญาณที่ ๒ 

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตน

ญาณที่ ๓ 

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มิได้มี

ญาณที่ ๔

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น คือ ความออกจากอาบัติใดปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัตินั้น แล้วรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นซึ่งอาบัตินั้นแก่เพื่อนสพรมจารีทั้งหลายและถึงความสำรวมต่อไป

ญาณที่ ๕ 

อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น คือ เพื่อนสพรหมจารีถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำอย่างไร ความเพ่งเล็งกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของอริยสาวกนั้นก็มีอยู่

ญาณที่ ๖

อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น คือ เมื่อบัณฑิตแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ทำให้มีประโยชน์ ทำไว้ในใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตฟังธรรม

ญาณที่ ๗

อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น คือ เมื่อบัณฑิตแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม

อริยสาวกผู้ประกอบด้วย องค์ ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล



อ่าน โกสัมพิยสูตร

อ้างอิง
โกสัมพิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๕๔๐-๕๕๐ หน้า ๔๑๑-๔๑๖
ชุดที่
ลำดับที่
7

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม