Main navigation

ปัญหาของท้าวสักกะ ตอนที่ ๒

เหตุการณ์
ท้าวสักกะทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่เคยได้รับคำตอบจากสมณพราหมณ์เหล่าอื่น

ปัญหาของท้าวสักกะ

อะไรเป็นเครื่องผูกพันใจ ให้ยังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท  ยังจองเวรกันอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

เพราะมีความริษยา และความตระหนี่เป็นเครื่องผูกพันใจไว้ จึงยังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่

อะไรเป็นเหตุแห่ง ความริษยาและความตระหนี่ เมื่ออะไรมี ความริษยาและความตระหนี่จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ความริษยาและความตระหนี่ มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่จึงมี  เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

อะไรเป็นเหตุแห่งอารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก เมื่ออะไรมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี   เมื่ออะไรไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีความพอใจเป็นเหตุ เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี

อะไรเป็นเหตุแห่งความพอใจ เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี

อะไรเป็นเหตุแห่งความตรึก  เมื่ออะไรมี ความตรึกจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความตรึกจึงไม่มี

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปัญจธรรมเป็นเหตุ เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมมี   ความตรึกจึงมี เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมไม่มี  ความตรึกจึงไม่มี

ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญา อันประกอบด้วยปัญจธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

โสมนัส โทมนัส และอุเบกขา โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ คือ
โสมนัส โทมนัส และอุเบกขาใดเมื่อเสพแล้ว อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม โสมนัส โทมนัส และอุเบกขานั้น ไม่ควรเสพ
ส่วนโสมนัส โทมนัส และอุเบกขาใด  เมื่อเสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โสมนัส โทมนัส และอุเบกขานั้น ควรเสพ
ในโสมนัส โทมนัส และอุเบกขา โสมนัส โทมนัส และอุเบกขาที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่าโสมนัส โทมนัส และอุเบกขาที่มีวิตก มีวิจาร

ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมในปาติโมกข์

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

กายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหา แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ
กายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหาใด เมื่อเสพแล้ว อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม กายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหานั้น ไม่ควรเสพ
กายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหาใด  เมื่อเสพแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจาร วจีสมาจาร และการแสวงหานั้น ควรเสพ

ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมอินทรีย์

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย และธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพ และไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคล เสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา เสพเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู เสพกลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก เสพรสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น เสพโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย เสพธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจแล้ว อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมนั้น ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยตา เสพเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู เสพกลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก เสพรสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น เสพโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย เสพธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมนั้น ควรเสพ

สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน  มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกันหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกันหามิได้

เพราะเหตุว่า โลกมีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกัน ในโลกที่มีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกันนั้น สัตว์ทั้งหลายยึดธาตุใดๆ อยู่ ย่อมยึดมั่นธาตุนั้นๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดถือ กล่าวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน  มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนหามิได้

เพราะเหตุว่า ภิกษุเหล่าใดน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ภิกษุเหล่านั้น มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน

พระพุทธเจ้าได้ทรงถามท้าวสักกะถึงเหตุที่ท่านทรงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัส ในการได้ฟังธรรมของพระองค์

ท้าวสักกะตอบว่า มีเหตุ ๖ ประการ คือ

หนึ่ง เมื่อเกิดเป็นเทวดาดำรงอยู่ในภพดาวดึงส์ ได้อายุเพิ่มขึ้นอีก
สอง เมื่อจุติจากทิพยกายแล้ว ละอายุอันมิใช่ของมนุษย์แล้ว เป็นผู้ไม่หลง จักเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลอันเป็นที่พอใจ
สาม ได้ยินดีแล้วในศาสนา มิได้หลงปัญหา มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง อยู่โดยธรรม
สี่ ถ้าความตรัสรู้จักมีในภายหน้าโดยธรรมแล้ว ก็จักเป็นผู้รู้ทั่วถึงอยู่ และนั่นจักเป็นที่สุด
ห้า หากจุติจากกายมนุษย์แล้ว ละอายุอันเป็นของมนุษย์แล้ว จักกลับเป็นเทวดาอีก จักเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก
หก ภพที่สุด จะไปอยู่กับเทวดาชั้นอกนิฏฐา ซึ่งประณีต และมียศ

ภายหลังจากการถามตอบปัญหา ท้าวสักกะ และเหล่าเทวดาอีกแปดหมื่นก็ได้บรรลุธรรม

 

อ่าน สักกปัญหสูตร

อ้างอิง
สักกปัญหาสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๔๗-๒๗๒ หน้า ๑๙๘-๒๑๕
ลำดับที่
15

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ