Main navigation

อวัสสุตปริยายและอนวัสสุตปริยาย

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เจ้าศากยทั้งหลายที่นิโครธารามให้ร่าเริง อาจหาญในธรรม เมื่อเจ้าศากายะเสด็จกลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงให้พระโมคคัลานะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

อวัสสุตปริยาย

ภิกษุย่อมเป็นผู้มีใจชุ่มด้วยกามอย่างไร  ภิกษุ

เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก

ฟังเสียงด้วยหูแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในเสียงอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในเสียงอันไม่น่ารัก

ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในกลิ่นอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในกลิ่นอันไม่น่ารัก

ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในรสอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในรสอันไม่น่ารัก

ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในโผฏฐัพพะอันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพะอันไม่น่ารัก

รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก
ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก

เป็นผู้ไม่ตั้งกายคตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มีใจชุ่มแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ        

ถ้าแม้ว่า มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มารย่อมได้ช่องได้เหตุ

รูปครอบงำภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น ภิกษุไม่ครอบงำรูป

เสียงครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำเสียง

กลิ่นครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำกลิ่น

รสครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำรส

โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำโผฏฐัพพะ

ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุ ภิกษุไม่ครอบงำธรรมารมณ์

ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ถูกรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ครอบงำ ไม่ครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาป เป็นอกุศล มีความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะ ครอบงำแล้ว 

ภิกษุเป็นผู้มีใจชุ่มแล้วด้วยกามอย่างนี้

อนวัสสุตปริยาย

ก็ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มด้วยกามอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก
ไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก

ฟังเสียงด้วยหูแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในเสียงอันน่ารัก
ไม่ขัดเคืองในเสียงอันไม่น่ารัก

ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในกลิ่นอันน่ารัก
ไม่ขัดเคืองในกลิ่นอันไม่น่ารัก

ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในรสอันน่ารัก
ไม่ขัดเคืองในรสอันไม่น่ารัก

ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในโผฏฐัพพะอันน่ารัก
ไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพะอันไม่น่ารัก

รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก
ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก

เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าแม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้นทางจักษุ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  มารย่อมไม่ได้ช่องไม่ได้เหตุ  

ก็ภิกษุผู้มีปรกติอยู่อย่างนั้น
ครอบงำรูป รูปไม่ครอบงำภิกษุ
ภิกษุครอบงำเสียง เสียงไม่ครอบงำภิกษุ
ภิกษุครอบงำกลิ่น กลิ่นไม่ครอบงำภิกษุ
ภิกษุครอบงำรส รสไม่ครอบงำภิกษุ
ภิกษุครอบงำโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะไม่ครอบงำภิกษุ
ภิกษุครอบงำธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ไม่ครอบงำภิกษุ

ภิกษุนี้เรียกว่าผู้ครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นบาปเป็นอกุศลเหล่านั้น อันมีความเศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะ 

ภิกษุเป็นผู้มีใจไม่ชุ่มแล้วด้วยกามอย่างนี้

 

อ่าน อวัสสุตสูตร

 

อ้างอิง
อวัสสุตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๒๖-๓๓๑ หน้า ๒๐๐-๒๐๔
ลำดับที่
20

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ