Main navigation

ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาท

เหตุการณ์
ภิกษุในเมืองโกสัมพีวิวาทกัน เพราะมีภิกษุรูปหนึ่งเห็นว่าตนเองไม่ต้องอาบัติ จึงไปหาภิกษุอื่นให้เข้าข้างตน จนเกิดการแตกแยกในหมู่สงฆ์เป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการอาบัติ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอาบัติ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความแตกแยกในหมู่สงฆ์ จึงให้โอวาททั้งสองฝ่ายให้ยอมกันเพื่อความสามัคคีของสงฆ์ดังนี้

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการอาบัติ - พระพุทธเจ้าให้โอวาทว่า

อย่าเห็นว่าตนเป็นคนฉลาด ถ้ารู้จักภิกษุที่ต้องอาบัติว่าเป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย  เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ใคร่ต่อสิกขาแล้ว หากการอาบัติภิกษุที่ไม่เห็นอาบัติจะทำให้สงฆ์แตกแยก ก็อย่าอาบัติภิกษุนั้นเลย

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอาบัติ - พระพุทธเจ้าให้โอวาทว่าว่า

เมื่อต้องอาบัติแล้ว อย่าสำคัญอาบัติว่าไม่ต้องทำคืน ด้วยเข้าใจว่า ไม่ต้องอาบัติ. ถ้ารู้จักว่าภิกษุที่เห็นว่าตนต้องอาบัติว่าเป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย  เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา ใคร่ต่อสิกขา ไม่ใช่เพราะมีอคติด้วยความรัก ความโกรธ ความเขลา หรือความกลัวด้วยเหตุแห่งตนหรือเหตุแห่งภิกษุรูปอื่นแล้ว หากเกรงว่าจะมีความแตกแยกกันในหมู่สงฆ์ พึงยอมแสดงอาบัตินั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อผู้อื่น

พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า ภิกษุที่มีสังวาสต่างกัน ทำอุโบสถ ทำสังฆกรรม แยกกัน ถูกตามญัตติและอนุสาวนาที่ได้ทรงบัญญัติไว้.                      

ภูมิของภิกษุนานาสังวาสนี้มี ๒ อย่าง คือ
-  ภิกษุทำตนเป็นนานาสังวาสด้วยตน ๑
-  สงฆ์พร้อมเพรียงกันยกภิกษุนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป ๑

ภูมิของภิกษุสมานสังวาสนี้มี ๒ อย่าง คือ
-  ภิกษุทำตนให้เป็นสมานสังวาสด้วยตน ๑
-  สงฆ์พร้อมเพรียงกันรับภิกษุนั้นผู้ถูกยก เพราะไม่เห็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป เข้าหมู่ ๑

เมื่อสงฆ์แตกกัน มีถ้อยคำไม่ชวนให้ชื่นชมต่อกัน แต่ยังทำกิจอันเป็นธรรม  พึงนั่งเหนืออาสนะ โดยนึกในใจว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเราจะไม่แสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน จะไม่ทำปรามาสกันด้วยมือ พึงนั่งในแถวมีอาสนะอันหนึ่งคั่นในระหว่าง.

เมื่อพระพุทธเจ้าไม่สามารถห้ามสงฆ์ไม่ให้เกิดความบาดหมาง ความทะเลาะกันได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า โมฆะบุรุษหัวดื้อ จะทำให้เข้าใจกันนั้นไม่ง่ายเลย หลังจากนั้นทรงตรัส เวรุปสมคาถา ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายลืมสติ สำคัญตัวว่าเป็นบัณฑิต ช่างพูด เจ้าคารม พูดไปตามที่ตนปรารถนา จะยื่นปากพูด ไม่รู้สึกว่าความทะเลาะเป็นเหตุชักพาไป

ก็คนเหล่าใดจองเวรว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนคนเหล่าใดไม่จองเวรว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับ เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ เพราะไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า

ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์ คอยช่วยเหลือกัน ครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้ พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น ถ้าไม่ได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน พึงเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะคุณเครื่องเป็นสหายไม่มีในคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึง ทำบาป ดุจช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าแต่ลำพัง

อ้างอิง
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๕ ข้อที่ ๒๓๘-๒๓๙
ลำดับที่
11

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ