Main navigation

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

ธรรมวิจัยเป็นกระบวนการหลักในการศึกษาและการปฏิบัติธรรม ทั้งเป็นกลไกสำคัญแห่งการบรรลุธรรม  พระผู้มีพระภาคทรงสอนในสัมโพชฌงค์ ให้บุคคลเจริญมหาสติปัฏฐาน แล้วตามด้วยธรรมวิจัย เพื่อให้เกิดวิริยะ จนได้ปีติ เกิดปัสสัทธิ ตั้งมั่นในสมาธิ จิตมีอุเบกขาเป็นวิหารธรรมปกติ ทรงประกาศว่า โพชฌงค์ ๗ คือองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้

ธรรมวิจัยมีสี่ประเภทคือ

ธรรมปฏิสัมภิทา 

เป็นการวิจัย เพื่อวิภังค์ (วิเคราะห์) ว่า สิ่งใดคือความเป็นจริง (สัจจธรรม) สิ่งใดคือความเป็นเท็จ (อธรรม)  สิ่งใดเป็นประโยชน์สุข (กุศลธรรม) สิ่งใดเป็นโทษทุกข์ (อกุศลธรรม)  สิ่งใดเป็นกลาง (อัพยากฤตธรรม)  สิ่งใดเป็นการปฏิบัติที่เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง (สัมมาปฏิปทา) สิ่งใดเป็นการปฏิบัติที่ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ (มิจฉาปฏิปทา) ซึ่งต้องศึกษาพระธรรมโดยถ้วนทั่ว


นิรุกติปฏิสัมภิทา

เป็นการวิจัยเพื่อเข้าใจธรรมชาติธาตุแท้ และกลไกการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของแต่ละองค์ธรรม เช่น “วิญญาณ” “เจตสิก”  “ธาตุ” “นิพพาน” ฯลฯ จนแตกฉานแต่ละสิ่ง ซึ่งต้องวิภังค์ (วิเคราะห์) และสังคณีย์ (สังเคราะห์) ความมีอยู่เป็นอยู่ของสิ่งนั้น กระบวนการทำงานทั้งหมดของสิ่งนั้นอย่างปรุโปร่ง ทั้งความสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่นๆ ซึ่งต้องศึกษาพระธรรมทั้งภาคบัญญัติ และภาคปฏิบัติจริง จนแจ่มแจ้ง สามารถแสดง สาธยาย อธิบาย ขยาย ย่อ คลี่คลายข้อกังขา ตอบข้อโต้แย้งให้เข้าใจได้ด้วยภาษาที่เหมาะสม เปี่ยมความหมาย และมีพลัง


อรรถปฏิสัมภิทา

เป็นการวิจัยเพื่อนำความหมายแห่งคุณค่าไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจิตใจและโลกแห่งความเป็นจริง  เช่นธรรมะเพื่อสุขภาพ ธรรมะเพื่อการบริหาร ธรรมเพื่อความเป็นผู้นำ ธรรมะเพื่อระบบเศรษฐกิจ ธรรมะเพื่อการปกครอง ธรรมะเพื่อความเจริญ ธรรมะเพื่อการตายอย่างสงบสุขและไปดี ธรรมะเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ฯลฯ ซึ่งต้องสังเคราะห์ธรรมเพื่อผลสัมฤทธิ์นั้นอย่างครบถ้วน และวิจัยหาอุบายแห่งปฏิปทาที่จะนำสู่ผลสัมฤทธิ์จริง


ปฏิภาณปฏิสัมภิทา

เป็นการวิจัยเพื่อสร้างปัญญาอันพอเหมาะพอดีฉับไวเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ และแต่ละบุคคล  แบบอย่างที่ดีที่สุดของปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือการสอนธรรมของพระพุทธองค์และพระอรหันต์สมัยพุทธกาล  ซึ่งท่านสอนธรรมอย่างพอเหมาะพอดีกับบุคคลและสถานการณ์ (ไม่มากไม่น้อย) และได้ผลอันควรเสมอ 

การฝึกปฏิภาณปฏิสัมภิทาของพุทธชนรุ่นหลังจึงทำได้สามขั้นตอนคือ 

1) ศึกษาแบบแผนการสอนธรรมของพระพุทธองค์และพระอรหันต์สมัยพุทธกาล 

2) ถอดแบบการปฏิบัติธรรมตามแบบของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สมัยพุทธกาลซึ่งนำสู่การบรรลุธรรมโดยง่ายและโดยเร็ว 

3) ปฏิบัติตามนั้นจนได้ผลจริง 

การกระทำทั้งสามประการดังกล่าว สามารถวิจัยได้จากแต่ละพระสูตรเพียงพระสูตรเดียว เพราะแต่ละพระสูตรมีความสมบูรณ์ในตัวเองอย่างพอเหมาะพอดีกับบริบทนั้นๆ จนเกิดผลเลิศที่เป็นไปได้แล้ว  หากพยายามวิจัยด้วยการผสมมากกว่านั้นจะเกินพอดี หากวิจัยไม่ครบพระสูตรจะขาดพอดี  ความขาดๆ เกินๆ นั่นเองคือความไร้ปฏิภาณเพื่อผลอันง่าย ตรง และเร็ว

ธรรมวิจัยในพระพุทธศาสนาเป็นการวิจัยธรรมด้วยมหาสติ (สติปัฏฐาน) เพื่อการปฏิบัติอย่างเหมาะสม (วิริยะ) จนได้ปีติ เกิดปัสสัทธิ ตั้งมั่นในสมาธิ จิตมีอุเบกขาเป็นวิหารธรรมปกติ มิใช่การวิจัยเพื่อความฟุ้งเฟื่องแห่งความรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือไม่นำสู่ผลจริง

ธรรมวิจัยแห่งโพชฌงค์จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้วิจัย และเป็นประโยชน์เสริมส่งต่อผู้ได้ศึกษาต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นการรื้อฟื้นธรรมสมบัติที่ถูกลืมให้กลับมาแผ่อานุภาพอีกครั้ง เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า “เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ธรรมวินัยจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย”  การดูแลรักษาพระธรรมจึงเป็นการดูแลรักษาพระศาสดาโดยตรง

อุทยานธรรมจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนที่มีปัญญาได้ร่วมกันเจริญธรรมวิจัย ในรูปแบบต่างๆ งานวิจัยของท่านใดที่ถูกตรง เป็นประโยชน์ นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้จริง จะได้รับการคัดเลือกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ในเน็ทเวิร์คของอุทยานธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ สรรพจิต และพระศาสนาสืบไป

ส่งงานวิจัยของท่านได้ที่ [email protected]