Main navigation

มหาหัตถิปโทปมสูตร

ว่าด้วย
อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง
เหตุการณ์
พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่ากุศลธรรมทั้งหลายย่อมลงในอริยสัจจสี่ที่วิหารเชตวัน

กุศลธรรมทั้งหลายย่อมลงในอริยสัจสี่ เช่นเดียวกับรอยเท้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมลงในรอยเท้าช้าง

อริยสัจสี่ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ทุกขอริยสัจ คือ

ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ก็อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน คือ

อุปาทานขันธ์ คือ รูป
อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา
อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา
อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร
อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ

ก็อุปาทานขันธ์คือรูปเป็นไฉน คือ

มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

รูป คือ

มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ซึ่งได้แก่ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม)

ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่ภายในร่างกายก็มี ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่ภายนอกร่างกายก็มี

ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ที่อยู่ภายใน คือ

สิ่งที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุเป็นไปภายใน

อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ที่อยู่ภายใน คือ

สิ่งที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ เป็นของเหลว คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน

เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ที่อยู่ภายในคือ

สิ่งที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของร้อน เช่น สิ่งทีให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องถึงความแปรปรวนไปด้วยดีแห่งของที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และของที่ลิ้มรสแล้ว ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน อย่างอื่น นี้เรียกว่า เตโชธาตุ อันเป็นไปภายใน

วาโยธาตุ (ธาตุลม) ที่อยู่ภายใน คือ

สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความเป็นของพัดไปมา คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอันอยู่ในท้อง ลมอันอยู่ในลำไส้ ลมอันแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา ถึงความเป็นของพัดไปมาอย่างอื่น นี้เรียกว่า วาโยธาตุเป็นไปภายใน

ธาตุสี่ ที่อยู่ภายใน ก็เป็นเช่นเดียวกับธาตุสี่ที่อยู่ภายนอก

เมื่อเห็นว่าธาตุทั้งสี่นั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ธาตุสี่ ธาตุสี่ไม่เป็นตนของเรา ย่อมเบื่อหน่ายในธาตุทั้งสี่ ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่นในธาตุสี่นั้น เมื่อธาตุทั้งสี่ปรากฏได้ ก็หายไปได้

แม้ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งอยู่ภายนอกที่ใหญ่ถึงเพียงนั้น ยังเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นได้ เสื่อมได้ แปรปวนไปเป็นธรรมดา ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟที่อยู่ภายในกายที่ตัณหาเข้าไปถือเอาว่าเป็นเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ ที่ตั้งอยู่เพียงชั่วเวลานิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่สิ้นไป เป็นของที่มีความเสื่อม เป็นของมีความแปรปรวน ไปเป็นธรรมดา

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ตัณหา มานะและทิฏฐิที่ยึดถือในธาตุสี่ที่อยู่ภายในกายนั้นจะไม่เกิดขึ้นเลย

หากคนจะด่า จะตัดพ้อ กระทบกระเทียบ จะเบียดเบียน ให้กำหนดรู้ว่าทุกขเวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้ว

ให้พิจารณาว่าทุกขเวทนานั้นอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่มีเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้

เมื่อเห็นว่า ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง

จิตที่มีธาตุเป็นอารมณ์ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

หากว่าคนจะพยายามทำร้ายตน ให้กำหนดรู้ว่ากายนี้เป็นที่เป็นไปแห่งอาการที่โดนทำร้าย

หากจะมีคนมาตัดอวัยวะของเรา คนที่ยังใจประทุษร้ายพวกโจร ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่า ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะหากเรามีความเพียรที่ไม่ย่อหย่อน มีสติไม่หลงลืม กายเราจะสงบ จะเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตจะมีความตั้งมั่น เป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การประทุษร้ายที่เกิดขึ้นที่กาย ก็จะอยู่เพียงที่กาย นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เราพึงทำให้ได้

เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่พร้อมได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้น

หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น

ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว

อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้าแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่าเป็นเรือนฉันใด อากาศอาศัยกระดูก และอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า รูป

ส่วนประกอบแห่งวิญญาณเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมากระทบกัน หากจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มนะ (อายตนะภายใน) ซึ่งเป็นรูปภายในมีอยู่ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (อายตนะภายนอก) ทั้งหลายที่อยู่ภายนอกไม่มาสู่อายตนะภายในนั้น การกำหนดรู้ที่เกิดจากอายตนะภายในและภายนอกเมื่อมาเจอกัน นั้นก็ไม่มี

ส่วนประกอบแห่งวิญญาณที่เกิดจากอายตนะภายในและภายนอกกระทบกันก็ยังมีไม่ได้ หากมีอายตนะภายในและมีอายตนะภายนอกเข้ามาสู่อายตนะภายใน แต่ไม่มีการกำหนดรู้เมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาเจอกัน ส่วนประกอบแห่งวิญญาณที่เกิดจากอายตนะภายในและภายนอกกระทบกันก็ยังมีไม่ได้

เมื่อมีอายตนะภายใน และมีอายตนะภายนอกเข้ามาสู่อายตนะภายใน และมีการกำหนดรู้เมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาเจอกัน ส่วนประกอบแห่งวิญญาณที่เกิดจากการกระทบกันนั้นจึงมีได้ การถึงความสงเคราะห์ การประชุมกันแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ มีได้ ด้วยประการดังนี้

รูปเป็นอย่างใด รูปนั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ รูป

เวทนาเป็นอย่างใด เวทนานั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ เวทนา

สัญญาเป็นอย่างใด สัญญานั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทานขันธ์ คือ สัญญา

สังขารเป็นอย่างใด สังขารนั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ในอุปาทาน คือ สังขาร

วิญญาณแห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด วิญญาณนั้นย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ

การสงเคราะห์ การประชุมพร้อมแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้

อุปาทานขันธ์ ๕ ชื่อว่าเป็น ปฏิจจสมุปปันนธรรม

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ

ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ

การกำจัดความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ การละความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 

 

อ่าน มหาหัตถิปโทปมสูตร

 

อ้างอิง
มหาหัตถิปโทปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๔๐-๓๔๖ หน้า ๒๔๕-๒๕๕
ลำดับที่
6

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ