Main navigation

ธรรมที่ให้เป็นท้าวสักกะ

เหตุการณ์
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตนครเวสาลี เจ้ามหาลีลิจฉวีเสด็จเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือไม่ เพราะว่าท้าวสักกะจอมเทพยากที่ใคร ๆ จะเห็นได้  

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเจ้ามหาลีลิจฉวีว่า ทรงเห็นท้าวสักกะ ทรงรู้จักท้าวสักกะ ทรงรู้ธรรมเครื่องกระทำให้เป็นท้าวสักกะด้วย และรู้ถึงธรรมที่ท้าวสักกะได้ถึงความเป็นท้าวสักกะเพราะเป็นผู้สมาทานธรรมนั้นด้วย และทรงกล่าวชื่อเรียกท้าวสักกะ

ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ เป็นมาณพชื่อว่ามฆะ จึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา
ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานมาก่อน จึงถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ 
ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานโดยเคารพ จึงถูกเรียกว่า ท้าวสักกะ 
ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ที่พักอาศัย จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ 
ท้าวสักกะจอมเทพย่อมทรงคิดเนื้อความตั้งพันโดยครู่เดียว จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์ 
ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีนางอสุรกัญญานามว่าสุชาเป็นปชาบดี จึงถูกเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี 
ท้าวสักกะจอมเทพเสวยรัชสมบัติเป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ จึงถูกเรียกว่า เทวานมินทะ

ธรรมให้เป็นท้าวสักกะ

ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ

วัตรบท ๗ คือ 

เลี้ยงมารดา บิดาจนตลอดชีวิต ๑ 
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑
พูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑ 
ไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑ 
มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑ 
พูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑ 
ไม่โกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้น ก็กำจัดเสียโดยฉับพลัน ๑ 

แล้วตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

เทวดาชั้นดาวดึงส์กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา มีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อน หวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ

เจ้ามหาลีลิจฉวีใคร่จะสดับกรรมที่ท้าวสักกะทำไว้ในคราวเป็นมฆมาณพ พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำอดีตนิทานมาเล่าว่า

มฆมาณพ

มาณพชื่อว่า มฆะ ในอจลคาม แคว้นมคธ ไปสู่ที่ทำงาน ทำสถานที่ที่ตนยืนอยู่ให้เป็นรมณียสถาน แล้วพักอยู่ บุรุษคนหนึ่งผลักเขาให้ออกไป แล้วพักอยู่เสียเอง เขาไม่โกรธต่อบุรุษนั้น ทำสถานที่อื่นให้เป็นรมณียสถาน บุรุษอื่นก็ผลักเขาแล้วพักอยู่เองอีก เขาก็ไม่โกรธ แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม

มฆมาณพคิดว่าชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้ได้รับสุขแล้ว กรรมนี้พึงเป็นกรรมให้ความสุขแก่ตน

วันรุ่งขึ้น เขาได้ถือเอาจอบไปทำลานเท่ามณฑลให้เป็นรมณียสถาน แล้วให้ปวงชนพักอยู่ในที่นั้น ในฤดูหนาว เขาก่อไฟให้คนเหล่านั้น ในฤดูร้อนได้ให้น้ำ

ต่อมา เขาคิดว่ารมณียสถานนี้ เป็นที่รักของคนทั้งปวง ชื่อว่าไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ไม่มี จึงคิดว่าแต่นี้ไปควรทำหนทางให้ราบเรียบ จึงเที่ยวตัดรานกิ่งไม้ที่ควรตัดรานเสีย

มีบุรุษคนหนึ่งเห็นเข้า จึงถามมฆมาณพว่าทำอะไร เขาตอบว่าทำหนทางเป็นที่ไปสวรรค์ บุรุษนั้นจึงขอร่วมด้วย และได้กล่าวแก่บุรุษนั้นอีกว่า ธรรมดาสวรรค์ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก แม้มาณพคนอื่นเห็นเขาทั้งสอง ก็ถามเหมือนอย่างนั้น เมื่อทราบแล้ว ก็ร่วมเป็นสหายของคนทั้งสอง รวมทั้งหมดเป็น ๓๓ คน 

มฆมาณพและสหายได้ทำหนทางให้ราบเรียบไปถึงที่ประมาณ ๑ โยชน์ และ ๒ โยชน์ นายบ้านเห็นพวกเขาแล้วคิดว่าชนเหล่านี้ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ พวกเขาพึงนำปลาและเนื้อจากป่า หรือทำสุราแล้วดื่ม หรือกระทำอย่างอื่น ตนพึงได้ส่วนอะไร ๆ บ้าง จึงบอกคนเหล่านั้นว่าไม่ควรทำเช่นนี้ ควรนำปลาและเนื้อจากป่า หรือทำสุราแล้วดื่ม หรือกระทำอย่างอื่น 

พวกเขาคัดค้านคำของนายบ้าน นายบ้านจึงโกรธ คิดให้พวกเขาฉิบหาย ไปยังสำนักของพระราชา กราบทูลว่าพวกเขาเป็นพวกโจร พระราชาทรงมีรับสั่งให้ทหารไปจับตัวชนเหล่านั้นมา ทรงบังคับให้ช้างเหยียบพวกเขาโดยยังมิได้ทันพิจารณา

มฆมาณพได้ให้โอวาทแก่สหายว่านอกจากเมตตาแล้วที่พึ่งอย่างอื่นไม่มี ท่านทั้งหลายไม่ต้องทำความโกรธใคร ๆ จงเป็นผู้มีจิตเสมอด้วยเมตตาจิตในพระราชา ในนายบ้าน ในช้างที่จะเหยียบ และในคนทั้งหลาย 

ช้างไม่อาจเข้าไปใกล้พวกเขาได้เพราะอานุภาพแห่งเมตตา พระราชาทรงตรัสว่าช้างมันเห็นคนมาก จึงไม่อาจเหยียบได้ ให้เอาเสื่อลำแพนคลุมเสีย แล้วจึงให้ช้างเหยียบ ช้างถูกไสเข้าไป ก็ถอยกลับไปเสียแต่ไกล

พระราชาทราบเหตุนั้นแล้ว ดำริว่าต้องมีเหตุ ทรงรับสั่งให้ชนเหล่านั้นมาเฝ้า จึงทราบว่าพวกเขาไม่ได้เป็นโจร แต่ได้ชำระหนทางไปสวรรค์ของตน จึงทำกรรมนี้และกรรมนี้ นายบ้านชักนำพวกเขาในการทำอกุศล จึงไม่ทำ 

พระราชาทรงขอให้นายบ้านยกโทษ และได้พระราชทานนายบ้าน บุตรและภรรยาให้เป็นทาส ช้างตัวนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่ และบ้านนั้นให้เป็นเครื่องใช้สอยตามสบาย

พวกเขาเห็นอานิสงส์แห่งบุญในปัจจุบันนี้ทีเดียว ต่างมีใจผ่องใสยิ่ง ตกลงกันว่า ควรทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป โดยจักสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนให้ถาวร ในหนทางใหญ่ ๔ แยก ได้หาช่างไม้มา แล้วเริ่มสร้างศาลา แต่ปราศจากความพอใจในมาตุคาม จึงไม่ได้ให้ส่วนบุญในศาลานั้นแก่มาตุคาม

มฆมาณพมีหญิง ๔ คน คือ นางสุนันทา สุจิตรา สุธรรมา สุชาดา เป็นภรรยา นางสุธรรมาได้ให้ค่าจ้างแก่นายช่างไม้เพื่อให้นางเป็นใหญ่ในศาลา นายช่างไม้รับคำ ทำช่อฟ้าสลักอักษรว่า “ศาลานี้ชื่อสุธรรมา” แล้วเอาผ้าพันเก็บไว้

ครั้นศาลาเสร็จ ในวันยกช่อฟ้า นายช่างไม้บอกว่าได้ลืมช่อฟ้า และช่อฟ้าไม่อาจทำด้วยไม้ที่ตัดเดี๋ยวนี้ได้ ต้องได้ไม้ช่อฟ้าที่เขาตัดถากสลักแล้วเก็บไว้ จึงขอให้หาซื้อจากเรือนที่มีทำช่อฟ้าเสร็จแล้วเก็บไว้ขาย พวกเขาพบว่าในเรือนของนางสุธรรมามีช่อฟ้า จึงขอซื้อด้วยทรัพย์พันหนึ่ง นางไม่ขายให้ แต่ขอให้มีส่วนบุญในศาลานั้น

มฆมาณพกล่าวว่าพวกเขาไม่ให้ส่วนบุญแก่พวกมาตุคาม นายช่างไม้จึงกล่าวว่าเว้นพรหมโลกเสีย สถานที่อื่นชื่อว่าไม่มีมาตุคามย่อมไม่มี จึงขอให้รับช่อฟ้านั้น เขาจึงยอมรับช่อฟ้า และได้แบ่งศาลาเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับอยู่ของพวกอิสรชน ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ และอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนไข้

พวกเขาทั้ง ๓๓ คน ให้ปูกระดาน ๓๓ แผ่น แล้วให้ช้างเป็นผู้พาแขกที่มานั่งบนแผ่นกระดานที่ปูไว้ ไปพักยังเรือนของผู้ที่ปูแผ่นกระดานนั้น การนวดเท้า นวดหลัง ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ที่นอนทุกอย่าง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของแผ่นกระดานนั้น

ฝ่ายนายมฆะได้ปลูกต้นทองหลางต้นหนึ่งไว้ไม่ห่างจากศาลา ส่วนพวกที่เข้ามาสู่ศาลาเมื่อเห็นช่อฟ้า ย่อมเรียกกันว่า “ศาลาชื่อสุธรรมา” ส่วนชื่อของพวกเขา ๓๓ คนไม่มีปรากฏ 

นางสุนันทาคิดว่าศาลานี้พวกเขาไม่ให้นางมีส่วนร่วมในบุญด้วย แต่นางสุธรรมาก็ทำช่อฟ้าเข้าร่วมจนได้เพราะนางสุธรรมาเป็นคนฉลาด นางก็ควรจะทำอะไร ๆ บ้าง นางสุนันทาจึงให้สร้างสระโบกขรณี เพื่อพวกที่มาสู่ศาลาจะได้น้ำกินและน้ำอาบ 

นางสุจิตราคิดว่านางก็ควรสร้างอะไร ๆ บ้าง แล้วคิดว่าพวกชนมาสู่ศาลา ดื่มน้ำ อาบน้ำ ควรจะประดับพวงดอกไม้แล้วจึงไป นางจึงให้สร้างสวนดอกไม้

ฝ่ายนางสุชาดาคิดว่าตนเป็นทั้งลูกลุงของนายมฆะ เป็นทั้งภริยา กรรมที่นายมฆะทำแล้ว ก็เป็นของเราเหมือนกัน กรรมที่เราทำแล้ว ก็เป็นของนายมฆะเเหมือนกัน แล้วไม่ทำอะไร ๆ มัวแต่แต่งตัว ปล่อยเวลาให้ผ่านไป

มฆมาณพเกิดเป็นท้าวสักกะ

มฆมาณพบำเพ็ญวัตรบท ๗ เหล่านี้ คือ บำรุงมารดาบิดา ๑ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ๑ พูดคำสัตย์ ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ กำจัดความตระหนี่ ๑ ไม่โกรธ ๑ ในเวลาสิ้นชีวิต มฆะมานพได้เกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์ สหายของเขาก็เกิดในที่นั้นเหมือนกัน ช่างไม้เกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตร

ในเวลานั้น พวกอสูรอยู่ในภพดาวดึงส์ คิดว่าเทพบุตรใหม่ ๆ เกิดแล้ว จึงเตรียมน้ำทิพย์ ท้าวสักกะได้ทรงนัดหมายกับบริษัทของพระองค์ เพื่อประสงค์มิให้ใคร ๆ ดื่ม

พวกอสูรดื่มน้ำทิพย์เมาทั่วกันแล้ว ท้าวสักกะทรงดำริว่าจะต้องการอะไรด้วยความเป็นราชาเจ้าพวกนี้ นัดหมายกับบริษัทของพระองค์แล้ว ช่วยกันจับอสูรเหล่านั้นเหวี่ยงลงไปในมหาสมุทร อสูรเหล่านั้นศีรษะปักดิ่งตกลงไปในสมุทร อสูรวิมานได้เกิดที่พื้นใต้แห่งเขาสิเนรุด้วยอานุภาพแห่งบุญของพวกเขา

นางสุธรรมา นางสุนันทา นางสุจิตรา เมื่อถึงแก่กรรมแล้วก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์

เทวสภาชื่อสุธรรมา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ได้เกิดแก่นางสุธรรมา และในวันอัฏฐมี (คือ ดิถีที่ ๘) แห่งเดือน มีการฟังธรรมในที่แห่งนี้

สระโบกขรณีชื่อสุนันทา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เกิดแก่นางสุนันทา

สวนชื่อจิตรลดา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เกิดแล้วแก่นางสุจิตรา

ท้าวสักกะทรงตรวจดูบริจาริกาของพระองค์ ทราบว่านางสุธรรมา นางสุนันทา และนางสุจิตราเกิดแล้วในดาวดึงส์เหมือนกัน ส่วนนางสุชาดาเกิดเป็นนางนกยางในซอกเขาแห่งหนึ่ง ทรงดำริว่านางสุชาดานี้เขลา ไม่ทำบุญอะไร ๆ บัดนี้เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ควรที่พระองค์จะให้นางทำบุญแล้วนำมาไว้เสียที่นี่

ทรงไปหานางนกยางแล้วบอกว่าตนและภริยาทั้งสามได้เกิดในดาวดึงส์ แล้วพานางนกยางไปสู่เทวโลกเพื่อให้ได้เห็นสมบัติของพระเหสีทั้งสาม พระมเหสีทั้งสามได้เยาะเย้ยอัตภาพของนางนกยาง นางจึงได้ขอท้าวสักกะกลับไปที่ซอกเขาตามเดิม

ท้าวสักกะได้ประทานศีล ๕ แก่นาง แล้วรับสั่งว่า จงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาศีลเถิด 

นางนกยางจึงเที่ยวหากินแต่ปลาที่ตายเองเท่านั้น ท้าวสักกะได้เสด็จมาลองใจนางถึง ๓ ครั้ง แล้วตรัสว่านางนกยางรักษาศีลได้ดี เมื่อรักษาได้อย่างนั้น ไม่นานเท่าไร ก็จักเกิดในสำนักของเราเป็นแน่ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด แล้วเสด็จหลีกไป

นางได้ปลาที่ตายเองบ้าง ไม่ได้บ้าง เมื่อไม่ได้ล่วงไป ๒-๓ วัน ก็ซูบผอม เสียชีวิต ไปเกิดเป็นธิดาของช่างหม้อในเมืองพาราณสี ด้วยผลแห่งศีลนั้น

เมื่อนางมีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี ท้าวสักกะทรงคำนึงว่านางเกิดที่ไหน แล้วได้ไปที่นั้น ทรงเอาแก้ว ๗ ประการ ซึ่งปรากฏโดยพรรณคล้ายฟักทอง บรรทุกยานน้อย ขับเข้าไปในเมืองพาราณสี ป่าวร้องว่า มาเอาฟักทองกันเถิด ไม่ให้ด้วยราคา จะให้แก่สตรีผู้รักษาศีล ธิดาของช่างหม้อจึงมา นางคือสตรีผู้ไม่ละศีล ๕ พระองค์จึงทรงประทานให้ ทำมิให้คนพวกอื่นลักเอาไปได้ และให้นางรู้จักพระองค์ แล้วตรัสว่านี้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต จงรักษาศีล ๕ อย่าได้ขาด แล้วเสด็จหลีกไป

นางจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของผู้มีเวรต่อท้าวสักกะ เป็นธิดาของหัวหน้าอสูรในภพอสูร ความที่นางรักษาศีลดีแล้วใน ๒ อัตภาพ จึงเป็นผู้มีรูปสวย มีผิวพรรณดุจทองคำ จอมอสูรนามว่า เวปจิตติ ไม่ยอมให้ธิดานั้นแก่ใคร คิดว่า ธิดานั้นจักเลือกสามีที่สมควรแก่ตนด้วยตนเอง จึงให้พลเมืองที่เป็นอสูรมาประชุมกัน แล้วได้ให้พวงดอกไม้ไว้ในมือของธิดา สั่งให้รับผู้สมควรแก่ตนเป็นสามี 

ท้าวสักกะทรงตรวจดูสถานที่ที่นางเกิด ทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่าสมควรที่เราจะไปนำเอานางมา แล้วได้ทรงนิรมิตเพศเป็นอสูรแก่ไปยืนอยู่ที่ท้ายบริษัท อสุรกัญญานั้นพอพบท้าวสักกะ ก็เป็นผู้มีใจอันความรักด้วยอำนาจปุพเพสันนิวาสท่วมทับแล้ว ปลงใจว่านั่นสามีของเรา จึงโยนพวงดอกไม้ไปเบื้องบนท้าวสักกะนั้น 

ท้าวสักกะทรงจับมือนางแล้วประกาศว่าเป็นท้าวสักกะ แล้วทรงเหาะไปในอากาศ

พวกอสูรรู้ว่าถูกลวงเสียแล้ว จึงติดตามไป มาตลีเทพบุตรผู้เป็นสารถีของท้าวสักกะขับมุ่งสู่เทพนคร เมื่อถึงสิมพลิวัน ลูกนกครุฑได้ยินเสียงรถตกใจกลัวได้ร้องขึ้นเพราะกลัวตาย พระองค์จึงตรัสว่าอาศัยเราผู้เดียว นกประมาณเท่านี้ถูกความเร็วของรถให้ย่อยยับไปแล้ว อย่าฉิบหายเสียเลย จึงให้กลับรถเสีย

พวกอสูรคิดว่าท้าวสักกะหนีไปตั้งแต่อสุรบุรี บัดนี้กลับรถ จักได้ผู้ช่วยเหลือเป็นแน่ เกิดความกลัวขึ้น จึงถอยกลับเข้าไปสู่อสุรบุรี

ท้าวสักกะได้นำนางไปยังเทพนคร แล้วได้สถาปนาตำแหน่งหัวหน้านางอัปสร ๒ โกฏิกึ่ง นางทูลขอพรกับท้าวสักกะว่า ท้าวสักกะจะเสด็จไปในที่ใด ๆ กรุณาพาตนไปในที่นั้น ๆ ด้วย

ตั้งแต่นั้นมา เมื่อดอกจิตตปาตลิบาน พวกอสูรประสงค์จะรบกะท้าวสักกะ ท้าวสักกะได้ประทานอารักขาแก่พวกนาคใต้สมุทร พวกครุฑ พวกกุมภัณฑ์ พวกยักษ์ ท้าวจตุมหาราช ส่วนชั้นบนกว่าทุกๆ ชั้น ประดิษฐานรูปจำลองพระอินทร์ ซึ่งมีวชิราวุธในพระหัตถ์ ไว้ที่ทวารแห่งเทพนคร

พวกอสูรเห็นรูปจำลองมาแต่ไกล ก็ย่อมหนีไป 

อานิสงส์ความไม่ประมาท 

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเล่าอดีตนิทานจบ ได้ตรัสว่า มฆมาณพปฏิบัติอัปปมาทปฏิปทา (ความไม่ประมาท) อย่างนี้ จึงถึงความเป็นใหญ่เห็นปานนี้ ทรงเสวยราชย์ในเทวโลกทั้งสอง ชื่อว่าความไม่ประมาทนั่น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น สรรเสริญแล้ว เพราะว่าการบรรลุคุณวิเศษซึ่งเป็นโลกิยะ และโลกุตระแม้ทั้งหมดย่อมมีได้เพราะอาศัยความไม่ประมาท

แล้วทรงตรัสพระคาถานี้ว่า 

ท้าวมฆวะถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทอันท่านติเตียนทุกเมื่อ

ในเวลาจบคาถา เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี ทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว แม้บริษัทผู้ประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้เป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน เป็นต้น

 

 

อ่าน ตติยเทวสูตรที่ ๓

อ้างอิง
ตติยเทวสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๙๑๒-๙๑๕ และอรรถกถาเรื่อง ท้าวสักกะ คาถาธรรมบท อัปมาทวรรค
ลำดับที่
4

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ