Main navigation

โพธิราชกุมาร

ว่าด้วย
โพธิราชกุมาร
เหตุการณ์
ประวัติโพธิราชกุมาร เหตุที่ทำให้พระองค์ไม่มีลูก ทรงแสดงธรรมแก่โพธิราชกุมาร เมื่อทรงแสดงธรรมจบ โพธิราชกุมารบรรลุโสดาบัน จากนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้แก่โพธิราชกุมาร

โพธิราชกุมารให้นายช่างสร้างโกกนุทปราสาท ครั้นเมื่อสร้างสำเร็จพระองค์มีความคิดจะฆ่านายช่างเสีย แต่นายช่างรู้ตัวก่อนจึงได้หลบหนีไป

ในวันฉลองปราสาท โพธิราชกุมารได้นิมนต์พระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าโพธิราชกุมารจะไม่มีบุตรธิดา เนื่องจากกรรมที่เคยสร้างไว้ในอดีตชาติ คือ พระองค์และภรรยาได้เคยจับนก ลูกนกและไข่นกกินเป็นอาหารตลอดทั้งปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลเมื่อรู้ว่าตนเป็นที่รัก ไม่ควรประมาท ควรรักษาตนให้ดีทั้งในสามวัย หรือรักษาให้ได้แม้ในวัยใดวัยหนึ่ง

เมื่อจบเทศนาแล้ว โพธิราชกุมารได้สำเร็จโสดาบัน และกล่าวความเห็นของตนว่า

บุคคลไม่สามารถถึงความสุขได้ด้วยความสุข แต่บุคคลจะถึงความสุขได้ด้วยความทุกข์

พระผู้มีพระภาคจึงทรงเล่าเรื่องราวก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้

พระพุทธองค์ได้ไปศึกษายังสำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบสจนสำเร็จ แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงได้หลีกออกมาทำความเพียรด้วยพระองค์เอง ณ อุรุเวลาเสนานิคม แล้วทรงพบว่าสมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และไม่มีความพอใจในกาม สงบระงับด้วยดีในภายในเท่านั้น เป็นผู้ควรตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐ

จากนั้นพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาต่างๆ ด้วยการกดฟันแน่น กลั้นลมหายใจ ทำการอดอาหาร จนร่างกายผ่ายผอม ได้รับทุกขเวทนาอย่างที่สุด แต่ก็ทรงพบว่านี้ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง

พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงความสุขจากการบรรลุปฐมฌาน ครั้งนั่งอยู่ใต้ร่มร่มไม้หว้า และรับรู้ด้วยสติว่าทางนี้แหละคือทางเพื่อตรัสรู้ ไม่ทรงกลัวความสุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม จากนั้นพระองค์จึงกลับมาบริโภคอาหาร

พระองค์ทำความเพียรจนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌานตามลำดับ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ได้บรรลุญาณ ๓ ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ทรงระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ คือ ทรงเห็นกฎแห่งกรรมของสัตว์ต่างๆ และอาสวักขยญาณ คือ ทรงรู้ชัดในอริยสัจ๔ มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง บรรลุธรรมอันประเสริฐ

ในตอนแรกพระองค์มีความเห็นว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง และยากเกินกว่าที่หมู่สัตว์จะเรียนรู้ได้ จึงน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม แต่ท้าวสหัมบดีพรหมได้มาทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์

พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ เห็นหมู่สัตว์ที่มีกิเลสมากน้อยต่างกัน สอนให้รู้ได้ยากง่ายต่างกัน จึงทรงเปรียบหมู่สัตว์ด้วยดอกบัว ๓ เหล่า และเปิดโอกาสที่จะแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์เหล่านั้น

พระองค์มีความคิดจะแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส และอุทกดาบสก่อน แต่ทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี ไม่นานนักเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ก็บรรลุอรหัตผล

โพธิราชกุมาร ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า เมื่อภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำ ใช้เวลาเท่าไร จึงสามารถบรรลุธรรมได้

พระผู้มีพระภาคทรงตรัส องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ได้แก่

- มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
- มีอาพาธน้อย ประกอบด้วยไฟธาตุปานกลางควรแก่ความเพียร
- ไม่โอ้อวด เปิดเผยตนตามความเป็นจริง
- มีความเพียร ในการละอกุศลธรรม และยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม
- มีปัญญา เห็นความเกิดและดับ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้

ภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ เมื่อพระองค์สั่งสอนในเวลาเย็น จะสามารถบรรลุธรรมได้ในเวลาเช้า เมื่อทรงสั่งสอนในเวลาเช้า จะสามารถบรรลุธรรมได้ในเวลาเย็น

เมื่อฟังจบแล้วโพธิราชกุมารกล่าวว่า ตนเคยถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะมาแล้วสองครั้ง คือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และในวัยเด็ก และครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ขอประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

 

 

อ่านโพธิราชกุมารสูตร

อ้างอิง
โพธิราชกุมารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๔๘๖-๕๒๐
ลำดับที่
3

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ