Main navigation

ตระกูลที่ภิกษุควรเข้าไปและไม่ควรเข้าไป

เหตุการณ์
พระเจ้าเปเสนทิโกสลนิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูปมารับภัตที่พระราชวังเป็นนิตย์ ในวันที่ ๘, ๙, ๑๐ ทรงลืม ภิกษุหลายรูปพากันหลีกไป เหลือเพียงพระอานนทเถระ

 

สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งพระนครสาวัตถี ประทับยืนอยู่ปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรไปยังถนน เห็นภิกษุหลายพันรูป กำลังไปทำภัตกิจในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา นางสุปปวาสา จึงตรัสถามว่าภิกษุทั้งหลายจะไปไหน

พวกราชบุรุษทูลว่าภิกษุสองพันรูปไปเพื่อภัตทั้งหลาย มีนิตยภัต สลากภัต และคิลานภัต เป็นต้น ในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีทุก ๆ วัน ภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปเรือนของจูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตย์ ของนางวิสาขา และนางสัปปวาสา ก็เช่นเดียวกัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระประสงค์จะบำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เองบ้าง จึงเสด็จไปวิหาร ทรงนิมนต์พระศาสดาพร้อมกับภิกษุพันรูป ถวายทานด้วยพระหัตถ์เองสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงรับภิกษาของตนพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นนิตย์

พระศาสดาตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่รับภิกษาประจำในที่แห่งเดียว ประชาชนเป็นจำนวนมาก ย่อมหวังการมาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปประจำ พระศาสดาทรงให้พระอานนทเถระจัดการ

พระราชาทรงอังคาสด้วยพระองค์เองเท่านั้นตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๘, ๙, ๑๐ ทรงลืม ภิกษุหลายรูปจึงพากันหลีกไป เหลือเพียงพระอานนทเถระองค์เดียวเท่านั้น

พวกราชบุรุษนิมนต์พระอานนท์ให้นั่งแล้วอังคาส พระราชาเสด็จมาในเวลาที่พวกภิกษุไปแล้ว ทอดพระเนตรเห็นขาทนียะและโภชนียะตั้งอยู่อย่างนั้นแหละ จึงตรัสถามว่าภิกษุทั้งหลายมิได้มาหรือ

พวกราชบุรุษทูลว่าพระอานนทเถระมารูปเดียวเท่านั้น

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธภิกษุทั้งหลาย ดำริว่าภิกษุทั้งหลายได้ทำการตัดขาดต่อตน แล้วเสด็จไปสำนักพระศาสดา กราบทูลว่า ตนจัดแจงภิกษาไว้เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป แต่พระอานนทเถระมารูปเดียวเท่านั้น เหตุไหรภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่ให้ความสำคัญในพระราชวังของตนเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะสาวกทั้งหลายไม่มีความคุ้นเคยกับพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

ตระกูลที่ภิกษุควรเข้าไป ไม่เข้าไป

ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ภิกษุยังไม่เข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้

ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้ คือ

เขาไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ
ไม่อภิวาทด้วยความพอใจ
ไม่ให้อาสนะด้วยความพอใจ
ซ่อนของที่มีอยู่ของเขาไว้
เมื่อของมีอยู่มาก ก็ให้แต่น้อย
เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของเศร้าหมอง
ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยความเคารพ
ไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวธรรมอยู่ เขาก็ไม่ยินดี

ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ควรเข้าไป และเมื่อเข้าไปแล้ว ก็ควรนั่งใกล้

ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้ คือ

เขาต้อนรับด้วยความพอใจ
อภิวาทด้วยความพอใจ
ให้อาสนะด้วยความพอใจ
ไม่ซ่อนของที่มีอยู่ของเขาไว้
เมื่อของมีมาก ก็ให้มาก
เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของประณีต
ให้โดยเคารพ ไม่ให้โดยไม่เคารพ
เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวธรรมอยู่ เขาก็ยินดี

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า สาวกของพระองค์เมื่อไม่ได้ความคุ้นเคยจากพระราชวังพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงไม่ไป ด้วยประการนี้ แท้จริง โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้เขาบำรุงอยู่ด้วยความเคารพในที่ ๆ ไม่คุ้นเคย ถึงเวทนาแทบปางตาย ก็ไปสู่ที่ของผู้คุ้นเคยกันเหมือนกัน

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่าในการใด พระผู้มีพระภาคทรงนำอดีตมาสาธกดังนี้

เกสวชาดก ว่าด้วย ความคุ้นเคยเป็นรสอันยอดเยี่ยม

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระราชาทรงพระนามว่าเกสวะ ทรงสละราชสมบัติผนวชเป็นฤาษี  บุรุษ ๕๐๐ คน ออกบวชตามพระราชานั้น ท้าวเธอได้พระนามว่าเกสวดาบส อนึ่ง นายภูษามาลาของพระองค์ก็ได้ตามบวชเป็นอันเตวาสิกนามว่ากัปปกะ เกสวดาบสกับบริษัทอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศในฤดูฝน ตลอด ๘ เดือน และมาสู่กรุงพาราณสีเพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว

พระราชาทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นแล้ว ทรงเลื่อมใส ทรงรับปฏิญญาเพื่อประโยชน์แก่การอยู่ในสำนักของพระองค์ตลอด ๔ เดือน นิมนต์ให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน ท้าวเธอเสด็จไปสู่ที่บำรุงพระดาบสนั้น ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า

พวกดาบสพักอยู่ได้เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ก็รำคาญเสียงอึงคะนึงต่าง ๆ จึงกล่าวกับเกสวดาบสผู้เป็นอาจารย์ว่าพวกตนรำคาญใจ ไม่อาจอยู่ที่นี่ได้ จะไปหิมวันตประเทศ

เกสวดาบสกล่าวว่าพระราชาทรงรับปฏิญญาการอยู่ในที่นี้ตลอด ๔ เดือน จักไปได้อย่างไรเล่า

อันเตวาสิกจึงกล่าวว่าอาจารย์ไม่ปรึกษาพวกตนเสียก่อนที่จะถวายปฏิญญา พวกตนไม่อาจอยู่ที่นี่ได้ แล้วพากันหลีกไป เกสวดาบสคงอยู่กับอันเตวาสิกชื่อกัปปกะ เท่านั้น

เมื่อพระราชาเสด็จมาสู่ที่บำรุง ตรัสถามว่าดาบสทั้งหลายไปไหน

เกสวดาบสทูลว่าพวกดาบสเหล่านั้นรำคาญใจ จึงไปหิมวันตประเทศ

ต่อมาไม่นานนัก กัปปกดาบสก็รำคาญ แม้ถูกอาจารย์ห้าม ก็ไม่อาจทนได้ แล้วก็หลีกไปอยู่ในที่ไม่ไกลนัก คอยฟังข่าวของอาจารย์

ในกาลต่อมา โรคในท้องของเกสวดาบสก็เกิดขึ้น พระราชารับสั่งให้แพทย์เยียวยา แต่ไม่อาจทำให้โรคสงบได้ พระดาบสจึงทูลพระราชาว่า หากพระราชาทรงปรารถนาความสุขแก่ตนโปรดส่งตนไปสำนักพวกอันเตวาสิก

พระราชาทรงส่งดาบสนั้นไปพร้อมกับอำมาตย์ ๔ คน มีนารทอำมาตย์เป็นหัวหน้า กัปปกอันเตวาสิกทราบว่าอาจารย์มา ก็ทำการต้อนรับ

กัปปกดาบสเรียนอาจารย์ถึงที่อยู่ของอันเตวาสิกที่เหลือ เมื่ออันเตวาสิกเหล่านั้นทราบว่าอาจารย์มาแล้ว ต่างเข้ามาหาอาจารย์ ถวายน้ำร้อน ถวายผลาผลแก่อาจารย์ โรคของพระดาบสได้สงบโดย ๒-๓ วันเท่านั้น

นารทอำมาตย์ได้ถามว่าเหตุไรเกสวดาบสจึงละพระเจ้าพาราณสี ซึ่งสามารถให้สำเร็จประสงค์ทุกประการ แล้วมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปกดาบส

เกสวดาบสตอบว่า สิ่งอันน่ารื่นรมย์ใจซึ่งยังประโยชน์ให้สำเร็จมีอยู่ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจมีอยู่ ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปกดาบส ยังตนให้ยินดี

นารทอำมาตย์ถามต่อไปว่าเกสวดาบสบริโภคข้าวสาลีสุกที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาด ไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสมิได้ จึงทำให้เกสวดาบสยินดีได้

เกสวดาบสตอบว่าของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลใดคุ้นเคยกันแล้ว จะพึงบริโภค ณ ที่ใด การบริโภค ณ ที่นั้นแหละดี เพราะรสทั้งหลาย มีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม

พระผู้มีพระภาคครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประมวลชาดก ตรัสว่า

พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นโมคคัลลานะ นารทอำมาตย์ ได้เป็นสารีบุตร อันเตวาสิกชื่อกัปปกะ ได้เป็นอานนท์ เกสวดาบสเป็นตถาคต

ดังนี้แล้ว ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า บัณฑิตในปางก่อน ถึงเวทนาปางตาย ได้ไปสู่ที่คนมีความคุ้นเคยกันแล้ว สาวกทั้งหลายของพระองค์ ชะรอยจะไม่ได้ความคุ้นเคยในสำนักของพระเจ้าปเสนทิโกศล

 

 

อ่าน กุลสูตร


 

อ้างอิง
กุลสูตร พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๑๓-๒๑
ลำดับที่
1

สถานที่

นครสาวัตถี

Keywords

ชาดก

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ