Main navigation

กถาวัตถุสูตร

ว่าด้วย
เรื่องที่ควรกล่าว - การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้า
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมเทศนาเรื่อง สิ่งที่ควรกล่าวและไม่ควรกล่าว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

กถาวัตถุ ๓ อย่าง คือ

พูดถ้อยคำปรารภถึงอดีตกาลว่า อดีตกาลได้มีแล้วอย่างนี้ ๑

พูดถ้อยคำปรารภถึงอนาคตกาลว่า อนาคตกาลจักมีอย่างนี้ ๑

พูดถ้อยคำปรารภถึงปัจจุบันกาลว่า ปัจจุบันกาลย่อมมีอย่างนี้ ๑

พึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน

ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ไม่เฉลยโดยส่วนเดียวซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ไม่จำแนกเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ไม่สอบถามเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ไม่หยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

แต่ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา ย่อมเฉลยโดยส่วนเดียวซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว ย่อมจำแนกเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย ย่อมสอบถามเฉลยซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย ย่อมหยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด

ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ ไม่ดำรงอยู่ในปริกัป (ไม่ตั้งมั่นอยู่ในการถามการตอบปัญหา) ไม่ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ไม่ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ ดำรงอยู่ในปริกัป ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด

ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่องนอกราว ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าควรพูด

ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

แต่ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา ไม่พูดฟุ้งเฟ้อ ไม่พูดวุ่นวาย ไม่หัวเราะเยาะ ไม่คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรพูด

พึงทราบบุคคลว่า มีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็ด้วยประชุมสนทนากัน

ผู้ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย
ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย

เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย
ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง
ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง
ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง
ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง

เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ

ประโยชน์ของการสนทนา การปรึกษาหารือ อุปนิสัย การเงี่ยโสตลงฟัง

การสนทนา การปรึกษาหารือ อุปนิสัย และการเงี่ยโสตลงฟังเป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น

ชนเหล่าใดเป็นคนเจ้าโทสะ ฟุ้งซ่าน โอ้อวด เจรจา ชนเหล่านั้น มาถึงคุณที่มิใช่ของพระอริยเจ้า ต่างหาโทษของกันและกัน ชื่นชมคำทุพภาษิต ความพลั้งพลาด ความหลงลืม และความปราชัยของกันและกัน

ก็ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ ไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น ไม่เพ่งโทษ กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากัน เพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น เขาจึงพาทีได้

บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ

เพื่อรู้ เพื่อเลื่อมใส สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการปรึกษาหารือกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปรึกษาหารือกันเช่นั้น นี้การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้าทั้งหลาย

เมธาวีบุคคลรู้เช่นนี้แล้ว ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษาหารือกัน

 

 

อ่าน กถาวัตถุสูตร

 

 

 

อ้างอิง
กถาวัตถุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๗
ลำดับที่
23

สถานที่

ไม่ระบุ

อารมณ์

สงบ มั่นคง

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย