Main navigation

จูฬธรรมสมาทานสูตร

ว่าด้วย
ธรรมสมาทาน ๔
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสมาทาน ๔ อย่าง

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า

ธรรมสมาทานมี ๔ อย่าง คือ

ธรรมสมาทานที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไปก็มี

ธรรมสมาทานที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไปก็มี

ธรรมสมาทานที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไปก็มี

ธรรมสมาทานที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไปก็มี

ธรรมสมาทานที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป เป็นไฉน

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษในกามทั้งหลายมิได้มี สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มในกามทั้งหลาย ย่อมบำเรอกับพวกนางปริพาชิกา และกล่าวอย่างนี้ว่า ไฉนท่านพระสมณพราหมณ์พวกนั้นเห็นภัยในอนาคตในกามทั้งหลาย จึงกล่าวการละกามทั้งหลาย

สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มในกามทั้งหลายแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนา หยาบ เผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิด และกล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น เห็นภัยในอนาคตในกามทั้งหลายนี่แหละ จึงกล่าวการละกามทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลาย พวกเรานี้ย่อมเสวยทุกขเวทนาหยาบ เผ็ดร้อน เพราะกามเป็นปัจจัย

ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป

ธรรมสมาทานที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป เป็นไฉน

ปริพาชกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เปลือยกาย ปล่อยมารยาทดีเสีย (ยืนถ่ายอุจาระ ปัสสาวะ แล้วก็กิน) เช็ดอุจจาระที่ถ่ายด้วยมือ

ไม่รับภิกษาตามที่เขาเชิญให้รับ ไม่หยุดตามที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาเจาะจงให้ ไม่ยินดีการนิมนต์ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากหม้อ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากกระเช้า ไม่รับภิกษาในที่มีธรณี มีสาก หรือมีท่อนไม้คั่นในระหว่าง ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังกินอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ของหญิงที่กำลังให้ลูกดื่มนม ของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษา ที่เขานัดกันทำ ในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีหมู่แมลงวันตอม

ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง

รับภิกษาที่เรือนแห่งเดียว เฉพาะคำเดียวบ้าง สองคำบ้าง ฯลฯ เจ็ดคำบ้าง กลืนอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง
สองวันบ้าง ฯลฯ เจ็ดวันบ้าง

ให้อัตภาพเป็นไปด้วยภิกษาอย่างเดียวบ้าง สองอย่างบ้าง ฯลฯ เจ็ดอย่างบ้าง กลืนอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง ฯลฯ เจ็ดวันบ้าง เป็นผู้หมั่นประกอบเนือง ๆ ในการกินภัตที่เวียนมาตลอดกึ่งเดือน แม้เช่นนี้ ด้วยประการฉะนี้อยู่

ปริพาชกนั้นกินผักดอง กินข้าวฟ่าง กินลูกเดือย กินกากข้าว กินสาหร่าย กินรำ กินข้าวตัง กินข้าวไหม้ กินหญ้า กินโคมัย กินเหง้าไม้ และผลไม้ในป่า กินผลไม้ที่หล่นเองเลี้ยงอัตภาพ

ปริพาชกนั้น ครองผ้าปอ ครองผ้าที่มีวัตถุปนกัน ครองผ้าผี ครองผ้าที่เขาทิ้ง ครองผ้าเปลือกไม้ ครองหนังเสือ ครองหนังเสือที่มีเล็บ ครองผ้าคากรอง ครองผ้าเปลือกไม้กรอง ครองผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ ครองผ้าที่กรองด้วยขนปีกนกเค้า

เป็นผู้ถอนผมและหนวด หมั่นประกอบเนือง ๆ ในการถอนผมและหนวด ยืนในที่สูง ห้ามอาสนะ เป็นผู้เดินกระโหย่ง ประกอบความเพียรในการกระโหย่ง นอนบนขวาก นอนบนหนาม หมั่นประกอบในการลงน้ำวันละ ๓ ครั้ง

ตามประกอบความหมั่นอันทำร่างกายให้ลำบากเดือดร้อนหลายอย่าง เห็นปานนี้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป

ธรรมสมาทานที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้าโดยปรกติ ย่อมเสวยทุกขโทมนัส อันเกิดแต่ราคะเนือง ๆ

เป็นผู้มีโทสะกล้าโดยปรกติ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนือง ๆ 

เป็นผู้มีโมหะกล้าโดยปรกติ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนือง ๆ

บุคคลนั้นถูกทุกข์บ้าง โทมนัสบ้าง ถูกต้องแล้ว เป็นผู้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ แต่ประพฤติพรหมจรรย์บริบูรณ์บริสุทธิ์

เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์

ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบาก ต่อไป

ธรรมสมาทานที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีราคะกล้าโดยปรกติ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัส อันเกิดแต่ราคะเนือง ๆ

เป็นผู้ไม่มีโทสะกล้าโดยปรกติ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัส อันเกิดแต่โทสะเนือง ๆ

เป็นผู้ไม่มีโมหะกล้าโดยปรกติ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัส อันเกิดแต่โมหะเนือง ๆ

บุคคลนั้นสงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์แล้วแลอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป

ธรรมสมาทานมี ๔ อย่างเหล่านี้แล

 

 

อ่าน จูฬธรรมสมาทานสูตร

 

อ้างอิง
จูฬธรรมสมาทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๕๑๔-๕๑๙
ลำดับที่
4

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม