Main navigation

อยู่ในความว่างแล้วควรทำอย่างไรต่อ

ถาม :

เมื่อเราได้ความว่างแล้ว อาจารย์เคยแนะนำให้ปล่อยความว่างไปใช่ไหมคะ

อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :  

พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ พวกที่อยู่ในความว่างไม่ต้องถอยออกมาพิจารณาหยาบ ๆ ไม่ต้องออกมาพิจารณาร่างกาย ไม่ต้องออกมาพิจารณาอารมณ์อะไรแล้ว มันเลยสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว มันลึกมากแล้ว ดังนั้น ตรงนั้นให้พิจารณาอย่างเดียวว่า แม้ความว่างนี้ก็ไม่เป็นตนแล้วปล่อยวาง จะหลุดได้ง่ายมาก จำไว้เลยนะครับ อย่าถอยออกมาหยาบ ๆ มันจะเหนื่อย ดังนั้น การวิปัสสนาก็ควรวิปัสสนาให้สอดคล้องกับสภาวะจิตของเรา ถ้าเรายังอยู่กับร่างกายก็ใช้ร่างกายนี้แหละวิปัสสนา แต่ถ้าเราไม่อยู่กับร่างกายแล้วก็ไม่ต้องถอยมาพิจารณาร่างกาย ให้ไปวิปัสสนาตัวสภาวะตรง ๆ เลย      

สภาวะที่วิปัสสนาได้มีอะไรบ้าง จิตก็วิปัสสนาได้ อาการแห่งจิตก็วิปัสสนาได้ แม้กระทั่งสภาวะที่แสนดีอย่างความว่าง ซึ่งดีมากนะ ก็วิปัสสนาได้ว่าไม่เป็นตนแล้วก็วาง ปล่อยวางการยึดถือความว่างว่าเป็นตนนะ ไม่ใช่ปล่อยวางความว่าง เพราะนิพพานก็ว่าง เป็น absolute ว่าง
 
ถาม :

แล้วช่วงแรกที่ได้ความว่างนั้น คือสมถะใช่ไหมคะ

อาจารย์ไชย ณ พล

การที่เราได้สมาธิไม่ว่าระดับใดก็ตาม มันเป็นผลของทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าเราไม่ปล่อยวางความมีเราจะได้ความว่างไหม การที่เรารู้ว่าความมีนี้หยาบคือวิปัสสนา ปล่อยวางคือวิราคะ ถ้าเราไม่ปล่อยวางองค์บริกรรมเราก็จะไม่ถึงสภาวะรู้ การที่เรารู้ว่าสิ่งใดควรวางควรละเพื่อสภาวะที่ยิ่งกว่า นั่นคือวิปัสสนา การยอมปล่อยวางคือวิราคะ เมื่อได้สภาวะรู้ล้วน ๆ เป็นสติบริสุทธิ์ เมื่อตั้งมั่นในความว่างเป็นสมาธิ เมื่อพิจารณาว่าความว่างไม่เป็นตน เป็นสภาวะธรรมชาติที่จิตเข้าถึง เป็นวิปัสสนา การปล่อยวางความยึดถือความเป็นตนในความว่างเป็นวิราคะ วางได้จริงเป็นวิมุตติ  พระพุทธเจ้าตรัสว่าใครวางได้ หลุดพ้นเลย