Main navigation

พระภัททิยกาลิโคธาปุตตเถระ

ว่าด้วย
ผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีตระกูลสูง
เหตุการณ์
บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระภัททิยกาลิโคธาปุตตเถระว่าด้วยความสุข ความยินดีจากวิเวก

พระภัททิยกาลิโคธาปุตตเถระผู้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ในสมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ได้เกิดในตระกูลมีทรัพย์มาก วันหนึ่ง ขณะฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศของภิกษุผู้มีสกุลสูง ก็ได้ปรารถนาฐานนันดรนั้น ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอดหนึ่งสัปดาห์ แล้วทำปณิธานไว้

พระศาสดาทรงเห็นว่าปณิธานนั้นจะสำเร็จโดยไม่มีอันตรายขัดข้อง จึงทรงพยากรณ์ให้

เมื่อได้ฟังพยากรณ์นั้น ได้ทูลถามถึงกรรมที่จะให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูง แล้วทำบุญเป็นอันมากตลอดชีวิตคือ สร้างสถานที่ฟังธรรม ถวายที่นั่งในมณฑปที่ฟังธรรม ถวายพัด สักการะบูชาพระธรรมกถึก ถวานเรื่อนที่ศัยให้เป็นโรงอุโบสถ

ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ ท่านได้เกิดในเรือนของผู้มีอันจะกินในเมืองพาราณสี ท่านได้ลาดแผ่นหินดาดในที่ฉันภัตตาหาร ตั้งน้ำล้างเท้า และได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวนมาก

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้เกิดในตระกูลศากยราช นครกบิลพัสดุ์ ชื่อว่า ภัททิยะ ได้บวชในสำนักของพระศาสดา ณ อนุปิยอัมพวัน และได้บรรลุพระอรหัต

ท่านอยู่ด้วยผลสุขและนิพพานสุข จะอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ภิกษุอื่นเข้าใจว่าท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์

เมื่อพระศาสดาตรัสถาม พระภัททิยะกราบทูลว่า เมื่อท่านครองราชย์ มีการจัดอารักขาเป็นอย่างดี แม้ถึงอย่างนั้น ก็ยังกลัว หวาดเสียว ระแวงอยู่ แต่บัดนี้ ท่านบวชแล้ว ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่ระแวงอยู่ แล้วได้บันลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

เมื่อก่อนจะไปไหน ก็ขึ้นคอช้างไป นุ่งห่มผ้าที่ส่งมาจากแคว้นกาสี มีเนื้อละเอียด บริโภคแต่อาหารล้วนเป็นข้าวสาลี พร้อมด้วยเนื้ออันสะอาด มีโอชารส ถึงกระนั้น ความสุขนั้นก็หาได้ทำจิตท่านให้ยินดีเหมือนความสุขในวิเวก

บัดนี้ ข้าพระองค์ ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ใช้แต่ผ้าไตรจีวรเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ถือการนั่งฉันบนอาสนะแห่งเดียวเป็นวัตร ถือการฉันอาหารเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ถือการฉันอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่จัดให้เป็นวัตร ถือการไม่นอนเป็นวัตร ถือการเป็นผู้มักน้อยเป็นวัตร ถือการเป็นผู้สันโดษเป็นวัตร ถือการเป็นผู้ชอบความสงัดเป็นวัตร ถือการไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะเป็นวัตร ประกอบด้วยความเพียร ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นในสิ่งใด ๆ เพ่งฌานอยู่

เป็นผู้เจริญ ไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ละความขลาดกลัวภัยได้แล้ว ได้หยั่งลงสู่ป่า เพ่งฌานอยู่ ตั้งมั่นอยู่ในศีลขันธ์ อบรมสติปัญญา ได้บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ

 

 

อ่าน ภัททิยกาลิโคธาปุตตเถรคาถา

 

อ้างอิง
ภัททิยกาลิโคธาปุตตเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๙๑ หน้า ๓๓๓-๓๓๔
ลำดับที่
22

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ