Main navigation

มหากัมมวิภังคสูตร

ว่าด้วย
การจำแนกกรรม สูตรใหญ่
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมแก่พระอานนท์เรื่องการเสวยเวทนาจากการกระทำ

ปริพาชกโปตลิบุตรกล่าวกับพระสมิทธิว่า ตนได้ยินจากพระพุทธเจ้าว่า กายกรรมเป็นโมฆะ วจีกรรมเป็นโมฆะ มโนกรรมเท่านั้นจริง และว่ามีสมาบัติที่บุคคลเข้าแล้ว ไม่เสวยเวทนาอะไร ๆ

พระสมิทธิกล่าวกับปริพาชกว่าอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเช่นนั้น

ปริพาชกโปตลิบุตรจึงถามต่อไปว่า บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เขาจะเสวยอะไร

พระสมิทธิกล่าวว่า เขาจะเสวยทุกข์

ปริพาชกโปตลิบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำตอบนั้น แล้วก็เดินจากไป

พระสมิทธิเล่าเรื่องราวนี้ให้แก่พระอานนท์ พระอานนท์จึงชวนพระสมิทธิให้เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างไร จะได้จำคำพยากรณ์นั้นไว้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า การตอบคำถามของพระสมิทธินั้นไม่แยบคาย ได้พยากรณ์ปัญหาที่ควรแยกแยะพยากรณ์ของปริพาชกโปตลิบุตรแต่แง่เดียว

ปริพาชกโปตลิบุตรถามถึงเวทนา ๓ ถ้าสมิทธิผู้ถูกถามนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นสุข เขาย่อมเสวยสุข

บุคคลทำกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นทุกข์ เขาย่อมเสวยทุกข์

บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลไม่ทุกข์ไม่สุข เขาย่อมเสวยอทุกขมสุข

ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบแก่ปริพาชกโปตลิบุตร

แล้วทรงจำแนกกัมมวิภังค์ว่าดังนี้

บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ คือ

(๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้

เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี

(๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้

เขาตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้

เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

(๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้

เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี


ทิฏฐิเรื่องกรรม

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความตั้งใจมั่น ความประกอบเนือง ๆ ความไม่ประมาทความใส่ใจโดยชอบ ถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลผู้ผิดศีล มีความเห็นผิด และเล็งเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วิบาต นรกได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า

กรรมชั่วมี วิบากของทุจริตมี

แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า

ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ เล็งเห็นบุคคลผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ และเห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า

กรรมชั่วไม่มี วิบากของทุจริตไม่มี

แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า ผู้ใดมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิด ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้น ๆ ตาม
กำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ถูกต้องเจโตสมาธิมีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และเล็งเห็นผู้นั้นเมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า กรรมดีมี วิบากของสุจริตมี

แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้น ๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า

ส่วนสมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เล็งเห็นบุคคลผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และ
เห็นผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี

แล้วกล่าวต่อไปอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด

สมณะหรือพราหมณ์นั้นจะพูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง โดยประการนั้นแหละ ในที่นั้นๆ ตามกำลังและความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า


วาทะที่ทรงอนุมัติและไม่อนุมัติ

ในสมณะหรือพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น เราอนุมัติวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า กรรมดีมีวิบากของสุจริตมี

แม้วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราก็อนุมัติ

ส่วนวาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เรายังไม่อนุมัติ

เราไม่อนุมัติวาทะของสมณะหรือพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เป็นอันว่า กรรมดีไม่มี วิบากของสุจริตไม่มี

แต่วาทะของเขาที่กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้เห็นบุคคลโน้น ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ และผู้นั้นตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าพเจ้าก็เห็น นี้เราอนุมัติ

ส่วนวาทะที่กล่าวอย่างนี้ว่า

เป็นอันว่า ผู้ใดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบ ผู้นั้นทุกคนตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เรายังไม่อนุมัติ

แม้วาทะที่กล่าวอย่างนี้ว่า

ชนเหล่าใดรู้อย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารู้ชอบ ชนเหล่าใดรู้โดยประการอื่น ความรู้ของชนเหล่านั้นผิด นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ

แม้วาทะของเขาที่พูดปักลงไปถึงเรื่องที่เขารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง นั้นแหละในที่นั้น ๆ ตามกำลังและ
ความแน่ใจว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า นี้เราก็ยังไม่อนุมัติ

นั่นเพราะตถาคตมีญาณในมหากัมมวิภังค์เป็นอย่างอื่น


ญาณในมหากัมมวิภังค์

ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น

บุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรกนี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ

บุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลังหรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไปจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป

บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลังหรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป ฯ

บุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้ ตายไปแล้ว เข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก นี้ เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อนๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไปจึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบาก ของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป

ด้วยประการนี้แล กรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มี ให้เห็นว่าควรก็มี

และกรรมที่ควรแท้ ๆ ส่องให้เห็นว่าควรก็มี ให้เห็นว่าไม่ควรก็มี

 

 

อ่าน มหากัมมวิภังคสูตร

 

อ้างอิง
มหากัมมวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๙๘-๖๑๖ หน้า ๒๙๓-๓๐๐
ลำดับที่
2

Keywords

กรรม

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม